ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทำความเข้าใจ "บอมบ์ ไซโคลน" ชี้ตัวการถล่มสหรัฐฯ แท้จริงคือ พายุเกรย์สัน

ต่างประเทศ
6 ม.ค. 61
10:25
4,948
Logo Thai PBS
ทำความเข้าใจ "บอมบ์ ไซโคลน" ชี้ตัวการถล่มสหรัฐฯ แท้จริงคือ พายุเกรย์สัน
สัปดาห์แรกของศักราชใหม่ 2018 ชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ต้องเผชิญกับความหนาวเหน็บเป็นประวัติการณ์ สื่อมวลชนต่างเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "บอมบ์ ไซโคลน"

ปรากฏการณ์ "บอมบ์ ไซโคลน" ไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูหนาว แต่ว่าปีนี้สภาพอากาศหนาวเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับสื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกาหลายสำนักต่างพาดหัวข่าวโดยใช้คำว่า "บอมบ์ ไซโคลน" เพื่อดึงความสนใจของผู้ชม ส่วนชื่อจริงๆ ของพายุลูกนี้ คือ เกรย์สัน แต่สื่อไม่ค่อยพูดถึงกันสักเท่าไหร่

"บอมบ์ ไซโคลน" เป็นคำเรียกอย่างไม่เป็นทางการ ที่นักอุตุนิยมวิทยาใช้เรียกกันมาตั้งแต่ปี 1940 เนื่องจากเป็นคำที่ให้ความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและฉับพลันของพายุไซโคลน โดยชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของบอมบ์ ไซโคลน คือ บอมโบเจเนซิส

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ เกิดจากความกดอากาศของพายุที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ตามเกณฑ์คือจะต้องลดลงอย่างน้อย 24 มิลลิบาร์ ในเวลา 24 ชั่วโมง ทำให้อากาศที่อยู่รอบด้านไหลเข้าไปแทนที่ในจุดศูนย์กลาง เกิดเป็นลมพายุที่มีความเร็วและความแรงเทียบเท่าพายุเฮอร์ริเคน

ในอดีตที่ผ่านมาพายุไซโคลนส่วนใหญ่ที่กลายเป็นบอมบ์ ไซโคลน ความกดอากาศจะลดลงประมาณ 30 มิลลิบาร์ แต่สำหรับในครั้งนี้ พายุเกรย์สัน ความกดอากาศลดลงถึง 49 มิลลิบาร์ ในเวลา 24 ชั่วโมง มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่าตัว ยิ่งความกดอากาศลดลงมาก ความรุนแรงของพายุก็มากตามไปด้วย

ภาพถ่ายดาวเทียมจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (นาซ่า) แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพายุเกรย์สัน เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น พายุเคลื่อนที่ไปตามแนวชายฝั่งด้านตะวันออกของสหรัฐอเมริกา

 

แม้ "บอมบ์ ไซโคลน" จะฟังดูน่ากลัว แต่พายุที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการระเบิด แต่จะทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงกว่าปกติ อย่างหลายพื้นที่ในสหรัฐอเมริกาที่ตอนนี้เผชิญกับอุณหภูมิติดลบเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้กระแสลมแรงยังส่งผลกระทบต่อการสัญจร ทั้งทางบก ทางอากาศและทางน้ำ

“บอมบ์ ไซโคลน” จะทำให้เกิดความเสียหายและดำรงชีวิตลำบาก นักวิทยาศาสตร์พบว่าบอมบ์ ไซโคลน สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบและศึกษาโครงสร้างส่วนลึกใต้พื้นโลกได้ โดยใช้คลื่นไหวสะเทือนที่เกิดจากสภาพทะเลที่ปั่นป่วนขณะเกิดพายุ นักวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบคลื่นไหวสะเทือนนี้ว่า เป็นเหมือนไฟฉายที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ส่องเข้าไปดูส่วนลึกของโลกที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง