วันนี้ (6 ม.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรยังคงใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงในการทำเกษตรทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพื่อช่วยในการจำกัดศัตรูพืช ขณะนี้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายแต่งตั้งขึ้นอยู่ระหว่างการพิจารณาว่ายกเลิกการใช้สารทั้ง 3 ชนิดหรือไม่
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี กรุ๊ป) เปิดเผยว่า หากพบว่าบริษัทในเครือจำหน่ายสารที่มีการตกค้างในดินและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจะเลิกจำหน่าย เชื่อว่าจะไม่กระทบธุรกิจซีพี
ด้านนายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีเพียงบริษัทเดียว แต่เป็นความรับผิดชอบของทุกบริษัทที่ต้องตระหนักในการใช้สารเคมีอันตราย
ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาว่าจะมีการยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวหรือไม่ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและจะเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาในเดือนมีนาคมนี้ ระหว่างนี้ กรมวิชาการเกษตรจะทยอยต่อทะเบียนยาที่หมดอายุไปก่อน แต่จะชะลอการขอขึ้นทะเบียนใหม่จนกว่าจะได้ข้อสรุป
นายสมชาย เนาสราญ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท เจียไต๋ บริษัทในเครือซีพี ซึ่งดำเนินธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ธุรกิจปุ๋ย และธุรกิจอารักขาพืช กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทได้รับใบอนุญาตการใช้สารเคมีไกลโฟเซตเพียงชนิดเดียว มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 20-30 ชนิด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือยาปราบศัตรูพืช ยากำจัดโรคพืช และยากำจัดแมลง ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 16 จากมูลค่าตลาดที่ 12,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ขณะนี้ยังไม่มีท่าทีจากผู้บริหารระดับเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ต่อการยกเลิกการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สารเคมีไกลโฟเสตที่ได้รับอนุญาตตามแนวคิดของนายธนินท์