สมาคมธนาคารไทย ชี้แจงกระบวนการเปิดบัญชีธนาคารแต่ละครั้งว่า พนักงานจะขอบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง เพื่อนำบัตรเสียบเข้ากับเครื่องอ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเชื่อมกับระบบทะเบียนราษฎร์ พร้อมตรวจสอบข้อมูลที่แสดง รวมทั้งสังเกตภาพบนบัตรกับผู้ถือบัตร ตั้งแต่รูปร่าง หน้าตา ทรงผม ความสูงต่ำ สีผิวตรงกันหรือไม่
ขณะที่นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดการป้องกันอาชญากรรมทางการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ยอมรับว่า การเชื่อมระบบทะเบียนราษฎร์ และประวัติขออายัดบัตรประชาชน ของกระทรวงมหาดไทยทำได้เฉพาะธนาคารของรัฐ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์บางส่วนยังไม่สามารถทำได้ ทั้งที่ พยายามผลักดันมาตลอด 3-5 ปี แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ทำให้ธนาคารต้องใช้วิธีการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังผู้เคยมาขอเปิดบัญชี เทียบกับลักษณะผู้ถือบัตร รวมทั้งตรวจสอบเบื้องต้นเองว่าเป็นบัตรประชาชนปลอมหรือไม่
ผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวอีกว่า ตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา ธนาคารสามารถระงับการรับจ้างเปิดบัญชีได้หลายร้อยรายการ ซึ่งมากกว่ากรณีขโมยบัตรประชาชนแล้วมาเปิดบัญชี ไม่ถึงร้อยละ 1 จากทุกคดีที่ตรวจพบ
ขณะที่สมาคมธนาคารไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งทีมงานควบคุมและป้องกันการทุจริตติดตามพฤติกรรม และหาวิธีป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพใช้บัญชีธนาคารไปกระทำการทุจริต แต่ยอมรับว่าขบวนการดังกล่าว พยายามเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวง ทั้งนี้ การรับจ้างเปิดบัญชี หรือหลอกให้ผู้อื่นโอนเงิน ให้เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในความผิดมูลฐาน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 60 ระวางโทษจำคุก 1-10 ปี หรือ ปรับ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ