กรมควบคุมโรค เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ "ไวรัสโรตา" ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง โดยจะมีอาการอาเจียน มีไข้ ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ และหลังนั้นจะมีอาการท้องเดิน หรือท้องร่วงอย่างรุนแรง ซึ่งเด็กเล็กและผู้สูงอายุอาจพบความรุนแรงของโรคมากกว่ากลุ่มอื่น แต่โดยปกติแล้วผู้ป่วยสามารถหายเองได้
ขณะที่สัญญาณเตือนว่าอาจจะป่วยด้วยไวรัสโรตา ให้สังเกตอาการดังต่อไปนี้ 1.มีอาการซึม ไม่มีแรง มือเท้าเย็น 2.มีอาการอาเจียนมาก หรือถ่ายมากผิดปกติ 3.มีปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะน้อย หรือไม่ปัสสาวะเลยเกิน 6 ชั่วโมง และ 4.มีอาการปากแห้ง ตาโหล ร้องไห้ไม่มีน้ำตา หรือเด็กๆ จะมีกระหม่อมบุ๋ม
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำสะอาดที่ผสมผงเกลือแร่ เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายเสียไป แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น อาเจียน ถ่ายมากผิดปกติ หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ชีพจรเต้นเร็ว ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันภาวะช็อกจากการขาดน้ำและการเสียชีวิต โดยห้ามซื้อยามารับประทานเอง
สำหรับการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อต่างๆ สามารถป้องกันได้โดย ล้างมือให้สะอาดก่อนประกอบอาหาร และหลังการใช้ห้องน้ำ, กำจัดขยะและเศษอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน, รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ไม่ทานอาหารสุกๆ ดิบๆ, หมั่นทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ของเด็ก และหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด
นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในช่วงนี้พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในหลายพื้นที่ โดยพบผู้ป่วยเป็นเด็กและผู้สูงอายุค่อนข้างมาก ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย อาทิ ไวรัสโรตา โนโรไวรัส เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม โรคอุจจาระร่วงสามารถพบได้ในทุกกลุ่มวัย ซึ่งตลอดปี 2560 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเกือบ 1 ล้านคน
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวอีกว่า ไวรัสโรตาพบในผู้ใหญ่มากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจากฝนเป็นหนาว ทำให้ไวรัสเติบโตได้ดี ซึ่งไวรัสโรตาไม่ใช่ไวรัสตัวใหม่ แต่มีมานานแล้วและยืนยันว่ารุนแรงน้อยกว่าอหิวาตกโรค พร้อมแนะประชาชนระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุกและไม่สะอาด หรือการสัมผัสกับเครื่องใช้ เสื้อผ้า โดยเฉพาะเสื้อผ้ามือสอง หรือของเล่นที่มีเชื้ออยู่ ซึ่งเป็นช่องทางก่อให้เกิดโรคได้