ไทยคาดหวังว่าการประกอบในไทยจะได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยนำไปพัฒนาในอนาคต เป็นไปตามนโยบายเสริมสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จะตั้งศูนย์ซ่อม-สร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ในไทย
นับจากนี้ไป แนวทางการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพต้องเปลี่ยนแปลงจากเดิม ด้วยเจตนาของกระทรวงกลาโหม ที่จะขับเคลื่อนนโยบายเสริมสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และด้วยเงื่อนไข-ข้อตกลงระหว่างไทยและจีน ซึ่งถือเป็นพันธสัญญา (MOU) แบบรัฐต่อรัฐ
กรณีการจัดตั้งศูนย์ซ่อม-สร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ร่วมกัน ผ่านการลงนามโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ซื้อจากจีน ร้อยละ 30 จะประกอบมาโรงงานต้นทาง แต่อีกร้อยละ 70 จะต้องประกอบที่ศูนย์ซ่อม-สร้างในไทย รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการจัดตั้งโรงงานซ่อมบำรุงที่กำลังพลต้องศึกษา เรียนรู้ หรืออบรมเป็นกรณีเฉพาะ
ส่วนสัดส่วนการถือครองหุ้นนั้น สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) กระทรวงกลาโหม จะถือร้อยละ 51 ส่วนอีกร้อยละ 49 จะเป็นของทางการจีน อาวุธยุทโธปกรณ์เดิมที่จัดซื้อมาจากจีน คือ รถสายพานลำเลียงพล แบบ T-85 และล็อตใหม่
ล่าสุดที่กำลังจะเปิดตัวปลายเดือนนี้ ก็คือ รถถัง VT-4 รถสายพานลำเลียงพล VN-1 ก็ถูกบรรจุไว้ในบัญชี เพื่อรอการซ่อมบำรุงในศูนย์ซ่อม-สร้างแล้ว โดยแผนการจัดตั้งศูนย์ซ่อม-สร้าง จะมีด้วยกัน 3 ระยะ
ระยะแรก ตั้งแต่ปี 2560-2564 จัดตั้งศูนย์ซ่อม-สร้าง ที่ จ.ขอนแก่น คู่ขนานไปกับการจัดตั้งคลังสะสมชิ้นส่วนซ่อม และซ่อมบำรุงรถสายพานลำเลียง T-85 ที่ จ.นครราชสีมา ที่จะแล้วเสร็จในปี 2562
ส่วนระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2569 จัดตั้งโรงซ่อมยุทโธปกรณ์ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีตามแผนการลงทุนไทย-จีน และระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2570 จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนต่อไป เดิมการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จะส่งมอบจากประเทศต้นทาง ด้วยความสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซนต์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลพวงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากจีน ในช่วงเกือบ 4 ปีของรัฐบาล-คสช. มีการซื้อตรงจากจีนมากกว่า 20,000 ล้านบาท จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์ซ่อม-สร้าง ไทย-จีน