ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พบผู้ป่วยโรคท้องร่วงเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 5 ปี

สังคม
11 ม.ค. 61
13:05
2,553
Logo Thai PBS
พบผู้ป่วยโรคท้องร่วงเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 5 ปี
ปีนี้พบการระบาดของไวรัสโรตาที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงเพิ่มขึ้นและยังพบเชื้อรุนแรงในผู้ใหญ่มากขึ้น กรมควบคุมโรคจึงประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาสาเหตุที่ทำให้เชื้อเปลี่ยนแปลง

การตรวจสอบโรคอุจจาระร่วงในห้องปฏิบัติการ พบว่าเกิดจากไวรัสโรตา รุนแรงในผู้ใหญ่เพิ่มมากขึ้นในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสโรตา

นพ.ภานุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้พบการระบาดของไวรัสโรตามากที่สุดใน กทม.และปริมณฑล คือ จ.นนทบุรี ชลบุรี ปทุมธานี และ จ.สมุทรสาคร โดยได้มอบหมายให้สำนักระบาดวิทยาและสำนักโรคติดต่อทั่วไป ตรวจสอบร่วมกันเพื่อหาตัวเลขที่แน่ชัดอีกครั้ง

ซึ่งในภาพรวม พบว่าในกรุงเทพมหานครมีผู้ป่วยอุจจาระร่วงในรอบ 2-3 เดือนนี้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และจากการสุ่มตรวจใน 5 โรงพยาบาล พบว่าสาเหตุการเกิดท้องร่วงจากไวรัสโรตามีมากขึ้น

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามปกติโรคไวรัสโรตาจะพบในเด็กเล็ก โดยพบในผู้ใหญ่บ้าง แต่เชื้อจะอ่อน แต่ในปีนี้พบผู้ใหญ่มีอาการรุนแรงด้วย บางคนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ทำให้กรมควบคุมโรคต้องพิจารณาว่าเกิดจากสาเหตุใด เชื้อเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากมีความเข้าใจโรคมากพอ อาการก็ไม่น่าจะถึงขั้นเสียชีวิต จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก โดยจะมีการตรวจตราโรคดังกล่าวให้เข้มงวดมากขึ้น

สำหรับอาการของผู้ป่วยด้วยไวรัสโรตา จะมีอาการร่างกายอ่อนเพลีย พะอืดพะอม มีไข้ ถ่ายเป็นน้ำ แต่สามารถรักษาได้ด้วยการให้น้ำเกลือ หากไม่รุนแรงก็ให้รับประทาน แต่หากมีอาการรุนแรงจะให้ทางเส้นเลือด แต่ยังไม่มียาฆ่าเชื้อรักษาได้

ขณะที่ นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค ระบุว่า ระยะนี้พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงหลายพื้นที่ เป็นเด็กและผู้สูงอายุค่อนข้างมาก เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย อาทิ ไวรัสโรตา โนโรไวรัส เป็นต้น จึงขอให้ระมัดระวังในการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุกและไม่สะอาดในน้ำ หรือน้ำแข็งที่ปนเปื้อน หรือสัมผัสเครื่องใช้ เสื้อผ้า โดยเฉพาะเสื้อผ้ามือสองและของเล่นที่มีเชื้ออยู่

ด้านการประปานครหลวง (กปน.) มีการตรวจวิเคราะห์หาเชื้อไวรัสโรตาในน้ำประปา โดยไม่พบเชื้อดังกล่าว ซึ่งนายสมบูรณ์ สุนันทพงศ์ศักดิ์ รองผู้ว่าการ กปน. เปิดเผยว่า กระบวนการผลิตน้ำประปาของ กปน.ใช้คลอรีนในการฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปา มีประสิทธิภาพ 100% ในการกำจัดเชื้อไวรัสโรตา พร้อมยืนยันว่าน้ำประปาที่ผลิตโดย กปน.สามารถดื่มได้อย่างปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดอาการท้องร่วง หรือท้องเสีย อย่างไรก็ตาม กปน.ได้เพิ่มความถี่ในการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโรตาในน้ำประปาอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้น้ำประปาที่สะอาดและปลอดภัย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง