จากปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย ในการประสานงานดึงภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนแทนการใช้งบประมาณของรัฐบาลซึ่งเป็นภาษีของประชาชน
ล่าสุดได้ภาคเอกชน 7 ราย เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะออกอากาศทางฟรีทีวีให้ประชาชนได้รับชมการถ่ายทอดสดทุกเกมการแข่งขัน ตั้งแต่รอบแรกถึงรอบชิงชนะเลิศ รวม 64 นัด เป็นการคืนความสุขให้ประชาชนตามนโยบาย คสช.
สำหรับหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญ ที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 กำหนดรายการทีวีที่สำคัญให้ออกอากาศได้เฉพาะฟรีทีวีเท่านั้น ได้แก่ กีฬาซีเกมส์, กีฬาคนพิการอาเซียนพาราเกมส์, กีฬาเอเชี่ยนเกมส์, กีฬาคนพิการเอเชี่ยนพาราเกมส์, กีฬาโอลิมปิก, กีฬาพาราลิมปิก และฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
สำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบสุดท้าย ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดจะอยู่ในช่วงวันที่ 14 มิ.ย.-13 ก.ค.2561 ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีบริษัทของคนไทย 2 ราย ที่เข้าไปประมูลซื้อลิขสิทธิ์มา ได้แก่ 1.บริษัท อาร์เอส จำกัด ที่คว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเมื่อปี 2014(2557) และ 2.บริษัททศภาค จำกัด ที่คว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เมื่อปี 2002 (2545) และฟุตบอลโลกในปี 2006 (2549) ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เหตุผลหลักๆ มีอยู่ 2 ข้อ ที่กลุ่มทีวีดิจิทัลไม่ซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอด คือ 1. กฎ Must Have ของกสทช.ที่่เป็น 1 ใน 7 รายการที่ต้องออกอากาศทางฟรีทีวี ซึ่งหมายความว่าใครที่คว้าลิขสิทธิ์ไปกับเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท จะหารายได้จากค่าโฆษณาเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากผู้ชมได้
และ 2. ค่าลิขสิทธิ์ ที่อัพราคาสูงขึ้นจากในอดีตอยู่ที่หลักร้อยล้าน แต่สำหรับฟุตบอลโลก 2018 คือ 1,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมภาษีร้อยละ 15 และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยคาดว่าถ้าใครได้ไปต้นทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท