ทำเนียบขาว ระบุว่า พื้นฐานทางเศรษฐกิจในระยะยาวของสหรัฐอเมริกา ยังคงแข็งแกร่ง แม้ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาด ที่ 24,345.75 จุด ปรับตัวลดลง 1,175 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 4.6 ทำลายสถิติการปรับตัวลดลง 777.68 จุด ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551
การปรับตัวลดลงของดัชนีดาวโจนส์ครั้งล่าสุด นับว่าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบสัดส่วนเป็นร้อยละ หลังจากสำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือเอส แอนด์ พี ลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2554
การเทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ก.พ.2561 หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขการจ้างงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าค่าแรงกำลังเพิ่มสูงขึ้นกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
ค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ประชาชนมีกำลังจ่ายมากขึ้นและส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เป็นเหตุให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ส่งผลกระทบต่อบรรดานักลงทุนพากันเทขายหุ้นเพื่อหันไปถือครองทรัพย์สินอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฝั่งเอเชีย ต่างได้รับผลกระทบจากดัชนีดาวโจนส์ร่วงหนักในรอบ 10 ปี และการเทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ กันอย่างถ้วนหน้า โดยดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกง เปิดตลาดที่ 31,028.68 จุด ปรับตัวลดลง 1,216.54 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 3.77 ส่วนดัชนี้นิเคอิของญี่ปุ่น เปิดตลาดที่ 21,508.63 จุด ปรับตัวลดลง 1,173.45 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 5.17