เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2561 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังไม่มีความจำเป็นต้องตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงถ่านหินในภาคใต้ ในช่วงเวลา 5 ปีหลังจากนี้ พร้อมยืนยันว่ากระทรวงมีแผนรองรับตามแผนพัฒนาสายส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง 500 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง 2 เส้น เชื่อมที่ชุมพรและส่งต่อไปยังสุราษฎร์ธานี ที่เป็นการดำเนินงานของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมถึงยังมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์
ขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา นายศิริ ระบุว่า พร้อมจะทบทวนตามข้อตกลงเอ็มโอยูกับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง โดยร่วมจัดทำรายงานประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ตามข้อตกลง จะดึงผู้เชี่ยวชาญผู้ที่เป็นกลาง ร่วมจัดทำรายงานจะใช้เวลา 9 เดือน
ส่วนความคืบหน้าการกำหนดร่างทีโออาร์การประมูลสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 ทั้งเอราวัณและบงกช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการกำหนดร่างทีโออาร์การประมูลสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 ทั้งเอราวัณและบงกช ว่า เตรียมจะเสนอกรอบร่างทีโออาร์ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ ทำให้ต้องเลื่อนเปิดประมูลเป็นเดือน เม.ย. จากเดิมเดือน มี.ค.
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยคาดว่าจะคัดเลือกและลงนามผู้ประกอบการเดือน ก.พ.2562 และยืนยันว่าร่างทีโออาร์จะเปิดให้ผู้ประกอบการเข้ามาทุกราย แต่ต้องมีศักยภาพที่จะผลิตก๊าซธรรมชาติไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และราคารับซื้อจะต้องไม่เกินจากราคาปัจจุบันประมาณ 8 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
ด้าน นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) คาดการณ์สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปี 2561 ว่า จะอยู่ที่ 154.69 ล้านลิตรต่อวัน ขยายตัวจากปีก่อนประมาณ ร้อยละ 2 ซึ่งขยายตัวตามเศรษฐกิจ