วันนี้ (24 ก.พ.2561) ทีมข่าว The Exit กลับมายังค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเมืองคอกซ์บาซา ประเทศบังกลาเทศ อีกครั้ง หลังจากเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว รองรับชาวโรฮิงญาที่อพยพมาจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา เพียง 400,000 คนเท่านั้น แต่ผ่านไปไม่ถึงครึ่งปี ผู้อพยพกลับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
การกลับมาคราวนี้เรามีคำถามถึงการเคลื่อนไหวของสมาชิกในกำลังปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน หรือ Arakan Rohingya Salvation Army เรียกสั้นๆ ว่า ARSA ที่เคลื่อนไหวนอกประเทศเมียนมา เราได้รับข้อมูลจากกลุ่มชายฉกรรจ์ในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่ง คนส่วนใหญ่รู้จักกองกำลังกลุ่มนี้ในนามอารีคีน ที่เป็นกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญา
ชายคนนี้บอกว่า เคยได้รับการติดต่อจากสมาชิกในกลุ่ม ARSA ทางโทรศัพท์เพื่อให้เข้าร่วมกับขบวนการ หลังจากที่หนีออกจากรัฐยะไข่แล้ว แต่มีข้อแม้ว่า ต้องกลับเข้าเมียนมาเพื่อร่วมสู้รบกับกองกำลัง แต่เขาตอบปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่ามีครอบครัวที่ต้องดูแล
เราได้รับข้อมูลว่าภายในค่ายผู้ลี้ภัยจำนวน 12 แห่ง ในบังกลาเทศมีชาวโรฮิงญาที่เคยเป็นกองกำลังของ ARSA อพยพมาอาศัยปะปนอยู่กับผู้ลี้ภัยอยู่เป็นจำนวนมาก เรานัดหนึ่งในสมาชิกกองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกันภายในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในประเทศบังกลาเทศ เขาพาทีมงานไปยังพักเพิงหลังหนึ่งห่างไกลผู้คนเพื่อพูดคุยถึงความคิดและอุดมการณ์
เขาบอกว่า ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธอาซา ก่อนเหตุการณ์วันที่ 25 สิงหาคมปีที่แล้วเพียง 2 เดือน เพราะรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการใช้อำนาจของรัฐที่กระทำต่อชาวโรฮิงญามาอย่างยาวนาน แต่การต่อสู้ที่มีอาวุธและกองกำลังไม่เพียงพอ ทำให้เขาอ่อนล้าและหนีออกมาจากรัฐยะไข่มากว่า 1 เดือนแล้ว
เขาบอกว่า ปฏิบัติการณ์แต่ละครั้งต้องได้รับคำสั่งจากหัวหน้าชุดที่เป็นผู้วางแผน โดยที่ไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อน แต่ทุกคนที่เข้าร่วมล้วนมีอุดมการณ์เดียวกันเพื่อคุ้มครองชาวโรฮิงญาจากกองกำลังทหารเมียนมา เราได้พูดคุยกับคนจัดตั้งแนวคิดของกองกำลังอาซา เขาเล่าว่า คนในหมู่บ้านในเมืองมองดอส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนอาซา โดยรู้จักในนาม "อาเรียคิน" มีความหมายว่า ความจริง
กองกำลังกลุ่มนี้จัดตั้งขึ้นก่อนเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนตุลาคมปี 2559 และเริ่มขยายเครือข่ายมากขึ้น ส่วนใหญ่พวกเขาจะจัดตั้งแนวคิดและประชุมวางแผนงานช่วงกลางคืนก่อนละหมาดร่วมกันในช่วงเช้าตรู่ของแต่ละวัน
กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกันทำงานแบบกองโจรในลักษณะกองกำลังขนาดเล็กเพียง 5 คน สำหรับหนึ่งภารกิจ มีฐานการเคลื่อนไหวอยู่ทางภาคเหนือของเมืองมองดอ รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา แต่ละหมู่บ้านจะมีสมาชิกอาซาประมาณ 100-200 คน จากทั้งหมดประมาณ 40 หมู่บ้านในเมืองมองดอ
นี่จึงเป็นเหตุผลให้ทหารอ้างการใช้กำลังปราบปรามกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้ในลักษณะปูพรมตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาส่งผลให้ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่หนีออกนอกประเทศกว่า 800,000 คน ล่าสุด ทหารเมียนมาได้ส่ง
WANTED List หรือรายชื่อที่ต้องการตัวถึงรัฐบาลบังกลาเทศให้ส่งบุคคลต้องสงสัยกว่า 1,000 คนกลับเมียนมาให้เร็วที่สุด เพราะสงสัยว่าพวกเขาเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธอาซา
เราได้พูดคุยกับชาวเมียนมาผู้นับถือศาสนาฮินดูในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่ง พวกเขาอพยพมาอยู่บังกลาเทศหลังเหตุการณ์ความรุนแรงเช่นกับชาวโรฮิงญาคนอื่นๆ แต่อยู่คนละพื้นที่ ชายคนนี้บอกว่า เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของชาวชุดดำที่พวกเขา เชื่อว่าไม่ใช่การกระทำทหารเมียนมา
ส่วนผู้หญิงคนนี้มั่นใจว่าเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของกลุ่มติดอาวุธอาซาที่เข้ามาก่อกวนภายในหมู่บ้าน รวมทั้งเผาทรัพย์สินจนเสียหาย รัฐบาลเมียนออกมาระบุว่า กลุ่มติดอาวุธอาร์ซา เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ผู้นำกลุ่มได้รับการฝึกฝนด้านอุดมการณ์และการสู้รบมาจากประเทศตะวันออกกลาง
แต่ทางกลุ่มยืนยันว่าไม่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีแนวคิดสุดโต่งทางศาสนา สมาชิกของกลุ่มส่วนใหญ่เป็นชายชาวโรฮิงญาอายุตั้งแต่ 15-40 ปี ที่โกรธแค้นจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ชาวโรฮิงญาถูกกระทำนับตั้งแต่ปี 2555 และมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องชาวมุสลิมโรฮิงญาจากการกดขี่ของรัฐบาลเมียนมา