พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดแถลงข่าว วันนี้ (28 ก.พ.) กรณีคดีหวย 30 ล้านบาท ระหว่าง ครูปรีชา ใคร่ครวญ และ ร.ต.ท.จรูญ วิมูล แม้ไม่ระบุชัดเจ้าของสลากฯ เป็นของใคร แต่ ผบ.ตร.หยิบคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อปี 2530 ที่ระบุว่า "สลากไม่ใช่ทรัพย์ตีทะเบียน อยู่ในการครอบครองของใคร ถือเป็นของคนนั้น " ทำให้ ร.ต.ท.จรูญ วิมูล ซึ่งเป็นผู้นำสลากไปขึ้นเงินตั้งแต่แรก มีน้ำหนักกว่าในฐานะผู้ครอบครอง
พล.ต.อ.จักรทิพย์ อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 2578 / 2530 ที่ระบุคำสั่งอัยการสูงสุด ชี้ขาดไม่ฟ้องคดี กรณีมีการฟ้องร้องแย่งสลากกัน ซึ่งใกล้เคียงกรณีนี้เนื้อหาสำคัญ ระบุว่า สลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ใช่ทรัพย์มีทะเบียน ผู้ใดครอบครองย่อมเป็นเจ้าของ โดยไม่ต้องจัดให้การลงชื่อก่อนซื้อ เหมือนกู้เงินหรือเข้าพักโรงแรม
ในคำพิพากษาศาลฎีกา ยังระบุว่า กรณีที่หวยหายไม่แจ้งความทันทีไปแจ้งภายหลังที่มีการประกาศรางวัลแล้ว จึงเป็นเหตุให้ควรสงสัยว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของสลาก และได้ทำสลากหายเมื่อไม่มีพยานหนักแน่นเพียงพอ ผู้ครอบครองจึงเป็นผู้มีสิทธิดีกว่า ประกอบกับด้านหลังสลากฯมีคำเตือนระบุว่าจะจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้ครองครองสลากเท่านั้น
เมื่อเทียบเคียงหลักฐานกรณีนายปรีชา ใคร่ครวญ "ครูปรีชา" ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของสลากฯ หมายเลข 533726 จำนวน 5 ใบ ซึ่งถูกรางวัลที่ 1 งวดประจำวันที่ 1 พ.ย.2560 เงินรางวัลรวม 30 ล้านบาท ครูปรีชามาแจ้งหลังจากที่ ร.ต.ท.จรูญ วิมูล นำสลากไปขึ้นเงินแล้วถึง 25 วัน
ส่วนหลักฐานที่ครูปรีชามีส่วนใหญ่เป็นคลิปเสียงสนทนาระหว่างแม่ค้าขายสลาก พยานก็เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดทำให้การพิสูจน์ว่าใครคือเจ้าของ จึงต้องติดตามหลังจากนี้ที่คู่กรณีไปฟ้องต่อศาลแพ่งไว้แล้วและศาลนัดพิจารณา สืบพยานทั้ง 2 ฝ่าย ในเดือน พ.ย.
อ้างสิทธิสลากฯ มีเพียง 1 คดี จบลงโดยไม่ต้องฟ้องร้อง
ที่ผ่านมามีคดีการอ้างสิทธิความเป็นของเจ้าสลากฯ ที่จบไปแล้ว คือ นายพันธุ์ศักดิ์ เสือชุมแสง ชาว จ.บุรีรัมย์ เข้าแจ้งความว่าลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 งวด วันที่ 16 ส.ค.2560 หมายเลข 715431 ถูกรางวัล 12 ล้านบาทหาย และพบว่านายวิทยา ธนทรัพย์สิน และนางขวัญศิริธนทรัพย์สิน สามีภรรยาชาว อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ไปขึ้นเงินรางวัลจึงมีการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์พบดีเอ็นเอและลายนิ้วมือแฝงของนายวิทยา และนางขวัญศิริจนสุดท้ายยอมความกันได้
ส่วนคดีที่ยังไม่จบเริ่มที่รางวัลที่ 1 งวด วันที่ 1 เม.ย.2559 นางเรวดี หาแก้ว และนางวิไลพร รัตนติสร้อย ได้เข้าพบ พล.ต.ต.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้น เพื่อร้องขอความเป็นธรรมในคดีที่ถูกนางสุดารัตน์ น้อยนิตย์ เพื่อนสนิท ที่หุ้นกันซื้อสลากฯ จำนวน 5 คู่ มูลค่า 30 ล้านบาท และเป็นคนเก็บสลากฯเอาไว้ แต่พอถูกรางวัลแล้วก็เชิดหนีหายไป คดีนี้แจ้งความไว้ที่ สน.ประเวศ ต่อมาอีก 1 ปี เม.ย.2560 นางเรวดี ก็ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับผู้ถูกรางวัลสลากกินแบ่งที่ 1 อีกรายหนึ่งในพื้นที่ สภ.ดงเย็น จ.อุดรธานี เท่ากับว่า นางเรวดีถูกรางวัลที่ 1 ถึง 2 ครั้ง และสลากฯ หาย หรือ ถูกขโมยไปทั้ง 2 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีงวด 1 ธ.ค. 2560 ที่ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี นางประดับ จันทร์อ่วม แจ้งความว่าได้ทำสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งถูกรางวัลที่ 1 จำนวนเงิน 6 ล้านบาท หล่นหาย คดีนี้พบว่าหลานสาวเป็นผู้นำสลากฯ ไปขึ้นเงิน และหลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว
และคดีสุดท้ายที่เป็นที่สนใจในตอนนี้ก็คือคดีระหว่าง ร.ต.ท.จรูญ กับ นายปรีชาที่จะต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาล แน่นอนว่าเจ้าของสลากฯมีเพียงฝ่ายเดียว
นักอาชญาวิทยา เปิด 3 ตัวละครหลัก ขบวนการตกหวย
ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ อาจารย์สาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยข้อมูลการศึกษาขบวนการตกหวย หลังลงพื้นที่ติดตามพฤติกรรมการตกหวยหลายคดี พบว่า ขบวนการตกหวยจะมีตัวละครหลัก 3 ตัว ได้แก่ 1.คนแอบอ้างว่าถูกรางวัล ต้องเป็นคนที่มีความสัมพันธ์กับพ่อค้าแม่ค้าทั้งระดับเล็กและใหญ่ ต้องมีความสามารถในการพูดและเจราจาพอสมควร 2.พ่อค้า แม่ค้า ทำหน้าที่พยานซึ่งอาจมีหลายคน เพราะมีต้นขั่วสลากฯ และ 3.เจ้าหน้าที่รัฐ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย และอาจจะถึงขั้นข่มขู่เพื่อให้เหยื่อยอมแบ่งเงิน
ขบวนการตกหวย จะใช้วิธีแอบอ้างว่ารางวัลนั้นเป็นของตัวเอง โดยมีพ่อค้าแม่ค้าเป็นพยานและใช้การข่มขู่กดดันเหยื่อให้ยอมแบ่งเงินจำนวนหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้บังคับใช้กฏหมายจนเหยื่อรู้สึกว่าไม่อยากให้เรื่องนี้ต้องถึงการดำเนินการในชั้นศาล จึงยอมแบ่งเงินให้ แม้รางวัลนั้นจะเป็นของตนและมักจะทำได้สำเร็จ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผบ.ตร.ไม่ฟันธงใคร "เจ้าของ" หวย 30 ล้าน