วันนี้ (2 มี.ค.2561) นายพิทักษ์ จันทร์อ้วน ชาวบ้านห้วยไฟ ต.นครเจดีย์ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ปลูกต้นหอมผักชีและพืชผักสวนครัวชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของ จ.ลำพูน เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาดและขายได้ราคา
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุ่มตรวจตัวอย่างผลผลิตทางการเกษตร พบว่า ผักชีและพืชผักสวนครัว จ.ลำพูน และ จ.ลำปาง มีสารตกค้าง โดยเฉพาะสารพาราควอตตกค้างในดิน ซึ่งชาวบ้านยอมรับว่า จำเป็นต้องใช้สารเคมี เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพและตรงตามความต้องการของตลาด
รศ.อานัฐ ตันโช อาจารย์ประจำภาควิชาทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อม คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุว่า พาราควอต คือชื่อทางวิทยาศาสตร์ของยาฆ่าหญ้าชนิดที่มีความรุนแรง นิยมใช้ในไทยมานาน 30 ปี เนื่องจากใช้กำจัดวัชพืชและเห็นผลเร็ว หากใช้ในปริมาณมากและไม่ถูกต้องจะทำให้ตกค้างในดิน แหล่งน้ำ และพืชผัก หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากจะมีความเสี่ยงประสบปัญหาสุขภาพ ขณะนี้หลายประเทศเริ่มยกเลิกการนำเข้าและห้ามใช้สารกำจัดวัชพืชพาราควอตแล้ว
ข้อมูลจากงานวิจัยของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ในพื้นที่ จ.ลำพูน และ จ.ลำปาง พบว่า ผลการวิเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืชทั้งหมด 32 ชนิด ในตัวอย่างดิน น้ำ และพืช มีสารตกค้างจำนวน 7 ชนิด ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส, เฟนิโตรไทออน, อีไทออน, เมโทมิล, คาร์เบนดาซิม, ไกลโฟเสท และเอเอ็มพีเอ ในระดับความเข้มข้นไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่อดิน 1 กิโลกรัม ยกเว้นสารกำจัดวัชพืชพาราควอต ที่พบตกค้างในดินมีความเข้มข้นสูงสุด 25.1 มิลลิกรัมต่อดิน 1 กิโลกรัม