Project Nim บทเรียนของมนุษย์ต่อสัตว์
เกิดมาได้เพียง 2 สัปดาห์ "นิม" ลูกลิงซิมแปนซีเพศผู้ ก็ถูกพรากจากอกแม่ เพื่อลบล้างสัญชาตญาณสัตว์ และนำไปเลี้ยงดูไม่ต่างจากเด็กทารกคนหนึ่ง ทั้งใส่เสื้อผ้า พาเที่ยวเล่น แม้แต่ให้นมกินไม่ต่างจากลูก
เบื้องหลังภาพความรักความห่วงใยที่ นิม ได้รับจากครอบครัวชาวนิวยอร์กไม่ต่างจากสมาชิกในบ้าน คือการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพื่อหักล้างทฤษฎีที่ว่ามีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่สื่อสารด้วยภาษาได้ เมื่อมนุษย์ และชิมแปนซีมีดีเอ็นเอที่คล้ายกันถึง 98.7% จึงกลายเป็นที่มาของ Project Nim งานทดลองทางวิทยาศาสตร์ในปี 1973 เพื่อศึกษาการสื่อสารภาษามนุษย์ผ่านการจดจำอักษรสัญลักษณ์ของลิงซิมแปนซี
ไม่นานลิงชิมแปนซีก็เริ่มเข้าใจคำศัพท์พื้นฐานของคน แต่เมื่อโตขึ้น ความก้าวร้าวตามสัญชาตญาณของนิมก็พัฒนาจนไม่อาจควบคุมได้ นิมถูกนำไปเลี้ยงยังบ้านอื่นๆ อีกหลายที่ จนเมื่อไปกัดผู้เลี้ยงดูคนหนึ่งเมื่อปี 1977 ทำให้การทดลองต้องยุติ นิมถูกส่งไปยังศูนย์วิจัยทางการแพทย์ โดยถูกขังร่วมกับลิงตัวอื่นๆ ก่อนจะได้รับการช่วยเหลือมายังปศุสัตว์สำหรับสัตว์ที่ถูกรังแก และเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเมื่อปี 2000 ในวัย 26 ปี
เรื่องราวท้าทายกฎธรรมชาติระหว่างคนและสัตว์ถูกถ่ายทอดเป็นงานสารคดีที่เปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์เมื่อต้นปีนี้ เจมส์ มาร์ช ผู้กำกับสารคดีรางวัลออสการ์ปี 2008 เผยว่าแหล่งข้อมูลของผลงานมาจากภาพที่บรรดาผู้เลี้ยงดูถ่ายเอาไว้ตั้งแต่เด็กจนโต ซึ่งแสดงออกถึงความปรารถนาดีของผู้คนรอบข้างที่มีต่อนิม แต่การทดลองต้องล้มเหลวเพราะไม่มีใครยับยั้งการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติได้
บ็อบ อินเจอร์โซลล์ ผู้เคยช่วยนิมจากการกักขังในศูนย์วิจัยยอมรับว่า แม้เขาจะมีความสุขที่เคยได้ใกล้ชิดกับนิม แต่สิ่งที่เหมาะสมกับมันที่สุดคือชีวิตตามธรรมชาติ ไม่ใช่การอยู่ร่วมกับมนุษย์ ไม่มีสิ่งใดที่มนุษย์จะเรียนรู้จากชีวิตของนิมได้มากไปกว่าการรู้ว่าการกักขังชิมแปนซีเป็นการทรมานทั้งร่างกาย และจิตใจ