ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"พาราควอต" ในมุมมองของ WHO: ต้องกำกับดูแลและติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด

สังคม
6 มี.ค. 61
16:37
2,681
Logo Thai PBS
"พาราควอต" ในมุมมองของ WHO: ต้องกำกับดูแลและติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด
แคโรลีน วิกเคอร์ส หัวหน้าทีมด้านความปลอดภัยของสารเคมี องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ไทยพีบีเอส" ถึงอันตรายและมาตรการป้องกันอันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช "พาราควอต" ซึ่งขณะนี้กำลังมีการผลักดันให้ยกเลิกการใช้สารเคมีชนิดนี้ในประเทศไทย

"Moderately Hazardous" คือประเภทความรุนแรงของพาราควอตที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุในบัญชีสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาไทยไว้หลายคำ เช่น "สารที่ไม่อันตรายสูง" "สารที่มีพิษสูงปานกลาง" และ "สารที่มีอันตรายปานกลาง" การจัดประเภทความรุนแรงนี้มักถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลหนึ่งในการคัดค้านการยกเลิกยาฆ่าหญ้าตัวนี้ในหลายประเทศ รวมถึงไทยที่กำลังมีการถกเถียงเรื่องนี้อย่างเข้มข้น

แต่ประเด็นที่ไม่ค่อยพูดถึงก็คือ ในการจัดลำดับความรุนแรงของพาราควอตนั้น WHO มี "คำอธิบายเพิ่มเติม" ที่ระบุอันตรายของพาราควอตไว้ ซึ่ง แคโรลีน วิกเคอร์ส หัวหน้าทีมด้านความปลอดภัยของสารเคมี WHO ให้สัมภาษณ์พิเศษกับไทยพีบีเอสทางโทรศัพท์จากสำนักงานใหญ่ WHO ในกรุงเจนีวา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 ว่า

"องค์การอนามัยโลกจัดพาราควอตให้อยู่ในลำดับที่ 2 อันตรายปานกลาง อย่างไรก็ดีสำหรับพาราควอตเรามีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า หากดูดซึมเข้าร่างกาย พาราควอตจะส่งผลกระทบอันตรายร้ายแรง แม้จะมีอันตรายน้อยหากใช้ตามคำแนะนำอย่างถูกต้อง แต่สามารถส่งผลกระทบถึงชีวิตหากพาราควอตเข้มข้นเข้าสู่ร่างกายทางปาก หรือสัมผัสผิวหนัง นอกจากนี้ การกำหนดระดับอันตรายดังกล่าวเป็นการกำหนดตัวสารตั้งต้น ไม่ได้หมายรวมถึงผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่ถึงมือผู้ใช้"

ในเอกสารการวิเคราะห์ทางพิษวิทยาของ WHO ระบุว่า พาราควอตไดคลอไรด์ เป็นสารที่เป็นพิษสูง ปริมาณที่ทำให้เสียชีวิตในผู้ใหญ่อยู่ที่ 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากเข้าสู่ร่างกายทางปาก ทำให้เกิดอาการแสบร้อนในปากและเกิดแผลในปาก ลิ้น คอ หลอดลม และช่องท้อง

หากร่างกายดูดซึมปริมาณมาก ผู้ป่วยจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วจากอวัยวะภายในล้มเหลว แม้ร่างกายดูดซึมปริมาณน้อย สามารถทำให้เกิดพังผืดที่ปอด และส่งผลต่อภาวะหายใจล้มเหลวในที่สุด รวมทั้งอาจส่งผลต่ออาการล้มเหลวของกล้ามเนื้อหัวใจและไตวาย

การรักษา ทำได้เพียงรักษาตามอาการและประคับประคอง วิธีลดความรุนแรงของพิษด้วยการให้ดินเหนียว Fuller’s earth หรือถ่านชาร์โคลเพื่อดูดซับสารพิษ และการฟอกเลือด ไม่เห็นผลในการรักษาที่ชัดเจน

"พาราควอตไม่มีอันตรายหากใช้ตามคำแนะนำ" เป็นข้อความที่ผู้ผลิตอธิบายถึงความปลอดภัยในการใช้พาราควอต ประเทศที่อนุญาตให้ใช้พาราควอต อย่างสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์มีการวางข้อกำหนดการใช้ที่เคร่งครัด ตั้งแต่ผู้จำหน่ายและผู้ใช้ต้องมีใบอนุญาต มีการกำหนดปริมาณการใช้ช่วงเวลาการใช้ และคุณภาพของอุปกรณ์ป้องกันอย่างเข้มงวด

ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศไม่ได้มีข้อกำหนดเรื่องการใช้พาราควอต และหลายประเทศเกษตรกรก็ไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน อุปกรณ์ตวงวัดสารเคมีและอุปกรณ์ฉีดพ่นที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้มีการใช้สารเคมีทางเกษตรในความเข้มข้นสูงกว่ากำหนด และใช้บ่อยกว่าที่แนะนำ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกเป็นห่วง

แคโรลีนระบุว่า ในประเทศกำลังพัฒนา มาตรการลดความเสี่ยง อุปกรณ์ป้องกันสารเคมี การทดสอบมาตรฐานเครื่องวัดต่าง ๆ อาจจะเข้าถึงยาก และไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลต้องติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศอย่างรอบคอบ และหากมาตรการที่ใช้อยู่ไม่เพียงพอก็จำเป็นต้องขยายมาตรการมากขึ้นเพื่อปกป้องสุขภาพของคนงานและประชาชน

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติระดับสากลเรื่องการจัดการยากำจัดศัตรูพืชฉบับล่าสุด ปี 2560 ระบุว่า เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยและคนงานในพื้นที่เขตร้อนควรหลีกเลี่ยงการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ยุ่งยากต่อการใช้งานหรือราคาแพง 

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของสารเคมีระบุว่า ข้อกำหนดดังกล่าวครอบคลุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิด ไม่ได้จำกัดเฉพาะสารเคมีอันตรายรุนแรง เมื่อสอบถามถึงทางเลือกอื่นในการกำจัดวัชพืช หากพาราควอตถูกยกเลิกการใช้ แคโรลีนยืนยันว่าทางเลือกในการกำจัดวัชพืชนั้นมีอยู่แน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศที่จะเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับบริบทของตน

"ประเทศที่ยกเลิก ห้ามใช้พาราควอต มีการใช้มาตรการทางเลือกอื่น ๆ ในการกำจัดศัตรูพืชแทน ซึ่งประเทศต่าง ๆ ต้องพิจารณาประเด็นนี้และตัดสินใจเลือกนโนบายที่เหมาะสมกับประเทศของตน"

ชลัญธร โยธาสมุทร รายงาน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง