วันนี้ (9 มี.ค.2561) นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สถาน การณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปีนี้ รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา โดยพบว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.นี้ มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 2 คน กำลังเฝ้าดูอาการ 1 คน ที่จ.ตรัง
ข้อมูลกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2559 -5 มี.ค.นี้ มีการประกาศเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้าแล้ว 14 จังหวัด ซึ่งจัดเป็นพื้นที่สีแดง คือ สุรินทร์ ชลบุรี สุมทรปราการ ฉะเชิงเทราอุบลราชธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สงขลา ระยอง ตาก ศรีสะเกษ ตรัง กรุงเทพมหานคร และสระแก้ว ส่วนพื้นที่สีเหลือง ที่พบการระบาดในสัตว์และยังต้องเฝ้าระวังมี 42 จังหวัด ส่วนพื้นที่สีเขียวคือไม่พบการระบาดของโรคมี 21 จังหวัด
ขณะที่หลักเกณฑ์ที่ประกาศเป็นโรคระบาดของกรมปศุสัตว์เมื่อพนักงานงานเจ้าหน้าที่หรือสัตวแพทย์ได้รับแจ้ง ตรวจพบว่า มีสัตว์ป่วยหรือตาย รู้ว่าเป็นโรคระบาดในที่สาธารณะ เจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่กักสัตว์ที่ป่วยไว้
แม้จะพบสัตว์ติดเชื้อเพียงตัวเดียวแต่ถ้ามีการติดเชื้อในคนด้วยก็สามารถประกาศเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้าได้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของปศุสัตว์จังหวัด หรือไม่ประกาศก็ได้ถ้าปศุสัตว์สามารถควบคุมโรคได้ หลังจากนั้นต้องนำสัตว์ที่สัมผัสโรคมากักไว้ 60 วัน หากพบว่า มีสุนัข- แมว ติดเชื้อเพิ่มเติมก็นำไปทำลาย
ส่วนการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยง รายงานกรมปศุสัตว์พบว่าปี 2561 เพียง 2 เดือนตรวจพบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว315 ตัว เดือนม.ค.นี้ พบ 155 ตัว และก.พ.นี้ พบ 160 ตัว ซึ่งสูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปี 2560 ถึง 2 เท่า โดยพบว่าสุนัขเป็นสัตว์ที่ติดเชื้อมากที่สุดกว่าร้อยละ 90 นอกนั้นพบในแมว และโค
กรมควบคุมโรคยืนฉีดวัคซีนแบบเดิม 28 วัน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวยืนยันถึงแนวปฏิบัติในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน ว่าขณะนี้ยังคงยึดวิธีฉีดในลักษณะเดิม ประสิทธิภาพป้องกันยังคงเดิม ดังนั้นขอให้ประชาชนยึดหลัก ล้างแผล ฉีดให้ครบ ฉีดให้ถูกวิธี
โดยหากถูกกัดถูกเลีย ถูกข่วน ให้รีบล้างแผล และรีบฉีดวัคซีนป้องกันให้ครบตามที่แพทย์นัด ส่วนจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าผิวหนัง อยู่ที่แพทย์พิจารณาเป็นหลัก ส่วนใครที่มีแผลเหวอะหวะ หรือถูกกัดใกล้เส้นประสาทเยอะ เช่น ใบหน้า ก็จะพิจารณาให้ฉีดเซรุ่ม เป็นต้น
ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลก มีข้อเสนอแนะเรื่องการปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจาก 28 วันเป็น 7 วันโดยใช้สูตรวันที่ 0 วันที่ 3 และวันที่ 7 ซึ่งที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและที่ปรึก ษากรมควบคุมโรค ได้ประชุมหารือในทีมพิจารณาเรื่องนี้ และจะเสนอมายังอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน
ส่วนกรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เรื่องตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้านั้น ทางกรมควบคุมโรค ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่วัคซีนพิษสุนัขบ้าจะแยกเป็นวัคซีนที่ฉีดในสัตว์กับในคน
ซึ่งวัคซีนในคน กรมควบคุมโรค จะเป็นผู้จัดหาและบริหารจัดการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิต ส่วนเซรุ่มที่ฉีดในคนที่ถูกกัด มีสภากาชาดไทยเป็นผู้ผลิต เพราะฉะนั้นทั้งวัคซีนและเซรุ่มมีปริมาณเพียงพอ ไม่ได้ขาดแคลน
ยอมรับเคยมีปัญหาวัคซีนไร้คุณภาพ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ยอมรับว่ากรณีที่อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเรื่องการตรวจสอบงบประมาณจัดซื้อวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า และพบว่าบางพื้นที่ใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ วัคซีนไม่ได้คุณภาพนั้น
โดยระบุว่าเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้น แต่พบว่าการระบาดโรคพิษสุนัขบ้าในปีนี้ ไม่ได้เกิดจากปัญหาท้องถิ่นไม่กล้าซื้อวัคซีน หลังถูก สตง.ตรวจสอบการใช้งบประมาณตั้งแต่ปี 2559 เพราะการจัดซื้อวัคซีนไม่ได้หยุดชะงัก แต่อาจเป็นการสื่อสารคลาดเคลื่อนระหว่างท้องถิ่นกับฝ่ายนโยบาย และเป็นช่วงรอยต่อ สตง.เข้ามาตรวจสอบ จึงทำให้บางท้องถิ่นไม่กล้าซื้อในปริมาณมาก พร้อมยอมรับว่าบางท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนปลอมไร้คุณคุณภาพ ราคาสูงเกินจริง ทำให้ สตง.ทักท้วงเรียกเงินคืนมาแล้ว
ทั้งนี้ จากการสำรวจความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ของคนไทย พบว่ายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนโดยประชาชนร้อยละ 60 คิดว่าโรคพิษสุนัขบ้ารักษาหาย ร้อยละ 59 คิดว่า ไม่เป็นไร เมื่อถูกสุนัขหรือแมวข่วนเป็นแผลเล็กน้อย จึงไม่ทำความสะอาดแผลเบื้องต้น หรือไม่เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
กทม. เจอแล้ว! 6 ผู้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
ประกาศ 13 จังหวัดพื้นที่สีแดง "โรคพิษสุนัขบ้า"