วันนี้ ( 8 มีนาคม 2561) ผศ.ดร.สุรวุฒน์ อยู่ยงเวชช์ ทีมนักวิจัยสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร สำนักวิชาสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยล่าสุดว่า “จากการทดสอบเบื้องต้น ทีมวิจัยได้ค้นพบวิธีการสืบพันธุ์ของไม้ผลยืนต้นเมืองหนาวบางสายพันธุ์ โดยไม่ต้องผ่านสภาพอากาศหนาวเย็นที่มีอุณหภูมิต่ำตามธรรมชาติ” การค้นพบนี้จะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อแนวทางการพัฒนาการวิจัยไม้เมืองหนาวที่นำไปสู่การใช้งานได้จริง ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาคการเกษตร อาหารและยาของประเทศต่อไปได้ในอนาคต” และจากการเรียนรู้ไม้ผลยืนต้นเมืองหนาวจาก ศ. ดร. สุรนันต์ สุภัทรพันธุ์ และ Prof. Hiroshi Gemma พบว่า การพัฒนาวงจรการสืบพันธุ์ของกลุ่มไม้ผลยืนต้นเมืองหนาวในธรรมชาติ จะต้องผ่านช่วงเวลาในฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิต่ำเป็นระยะเวลาหลายวันหรือนานนับเดือน เพื่อสะสมความเย็นให้เพียงพอ ต้นไม้จึงจะสามารถดำเนินการสืบพันธุ์ตามวงจรการพัฒนาของมันจนสามารถให้ผลผลิตอย่างสมบูรณ์
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ดำเนินงานโดยทีมวิจัยของสาขาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ที่กำลังจะดำเนินการภายใต้ความร่วมมือผ่านโครงการ MU Talent Mobility ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่งการดำเนินการศึกษาในเบื้องต้นนี้ ได้นำไปสู่การค้นพบวิธีการเหนี่ยวนำให้เกิดการพัฒนาการการสืบพันธุ์ของไม้ผลยืนต้นเมืองหนาว โดยเฉพาะในกลุ่มไม้ให้ผลที่ให้สารต้านอนุมูลอิสระสูง โดยไม่ต้องใช้สารเคมีเหนี่ยวนำภายใต้ระบบการควบคุมอุณหภูมิที่ไม่ทำให้ต้นไม้ประสบกับสภาพอุณหภูมิแบบฤดูหนาวตามสภาพธรรมชาติในต่างประเทศ
จากความสำเร็จในเบื้องต้นดังกล่าว ขณะนี้ทีมวิจัยได้เร่งทำการศึกษาวิจัยเพื่อให้สามารถนำผลสำเร็จจากการค้นพบ มาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจทางการเกษตรของประเทศชาติต่อไปในอนาคต
ข้อมูลโดย : ผศ.ดร.สุรวุฒน์ อยู่ยงเวชช์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร / งานวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์การ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี