เป็นที่คาดการณ์ว่า แม่ทัพภาค ตั้งแต่ 1 - 4 จะยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม แม้แต่ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช ที่จะเกษียณอายุราชการปลายปีนี้ หลังพบว่ากำลังพลถูกสลับปรับโยกบ่อยครั้งจนขาดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนภารกิจ
บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารกลางปี 2561 ที่จะมีผลเดือน เม.ย. ซึ่งถึงมือนายกรัฐมนตรีแล้วนั้น อาจไม่หวือหวาเพราะแค่สลับบางตำแหน่ง แต่การปรับโยกกลับมีนัยของการเลื่อนชั้นยศให้สูงขึ้นก่อนส่งไม้ต่อถึงบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี 2561 ในเดือน ต.ค.
ขณะเดียวกันยังสะท้อนให้เห็นการวางฐานอำนาจในกองทัพ เพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์การเมืองในช่วงรอยต่อสู่การเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเกษียณอายุราชการของปลัดกระทรวงกลาโหม,ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ
พร้อมกันนั้น พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ยังระบุถึงหลักการพิจารณา ที่มุ่งเน้นจัดทัพของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อบูรณาการงานทั้งระบบ หลังพบปัญหาการหมุนเวียนกำลังพลจนขาดความต่อเนื่องมีผลต่อความเข้มแข็งของ กอ.รมน.
ตำแหน่งที่น่าจับตามองมากที่สุด ในบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารกลางปี คือตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่ง พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช นั่งเก้าอี้นี้มานานเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ผลการพิจารณาให้คงตำแหน่งเดิม ด้วยเจตนาให้เกษียณอายุราชการในตำแหน่งนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ คาดการณ์จะปรับย้ายให้ไปกินอัตรา พล.อ.ในตำแหน่งประจำกองทัพบก ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พล.ท.ปิยวัฒน์ มีพี่ชายเป็นผู้เกื้อหนุนไว้ แต่บางกระแสก็ว่า สอบผ่าน มีผลงานแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นที่ประจักษ์
ขณะที่แม่ภาคที่ 1 2 และ 3 ก็ยังคงไว้ในตำแหน่งเดิม ด้วยความคาดหวังของ คสช.ที่มอบหมายภารกิจติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ให้เกิดความต่อเนื่อง รวมถึงการเดินหน้าโครงการไทยนิยม-ยังยืน ที่ขณะนี้คืบหน้าไปกว่าร้อยละ 50 แล้ว
สอดคล้องกับข้อสังเกตว่า บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร นอกจากต้องครอบคลุมงานด้านความมั่นคงในทุกมิติแล้ว จำเป็นต้องจัดระเบียบกำลังพลให้เหมาะสม ทั้งในแง่ของบุคคล ตำแหน่ง และภารกิจ โดยเฉพาะเส้นขีดกั้นและความสัมพันธ์กับรัฐบาล หรือ กองทัพกับการเมือง