13 มีนาคม 2561 เนื่องในวันช้างไทย ไทยพีบีเอสออนไลน์มีโอกาสพูดคุยกับสัตวแพทย์สัตว์ป่าถึงพฤติกรรมของช้างในแง่มุมต่างๆ ที่เราไม่เคยเห็น น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เล่าว่า ช้างเป็นสัตว์สังคม ที่มีโครงสร้าง อายุขัย สมอง การเรียนรู้ การจดจำที่ดีรองจากมนุษย์ สมองของช้างมีขนาดเล็กหากเทียบกับกระโหลก แต่ภายในสมองมีรอยหยักเยอะ ช้างจึงสามารถเรียนรู้ ฝึกฝน และปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้ดี
ช้างขี้อ้อน
น.สพ.ภัทรพล บอกว่าช้างในวัยเด็กจะมีความน่ารักเป็นอย่างมากจากความไร้เดียงสา พฤติกรรมไม่ต่างจากมนุษย์ในวัยเด็กคือ กิน นอน เล่น ช้างจะกินนมแม่จากเต้าโดยใช้ปากดูดจนถึงอายุ 3-4 ปี หลังหย่านมช้างจะเปลี่ยนไปกินพืชและโป่งดิน ลูกช้างโดยทั่วไปจะขี้อ้อนและจะอยู่ใกล้แม่ตลอดเวลา
ลูกช้างจะเดินตามแม่ตลอด โดยเดินใต้ท้องหรือข้างขาของแม่ หลายครั้งที่แม่เดินเร็ว ลูกช้างจะหกล้มจากการถูกขาแม่เตะหรือสะกิด เพราะลูกช้างยังเดินไม่คล่อง
ช้างมีความฉลาด
ในการป้องกันแก้ไขไม่ให้ช้างออกนอกพื้นที่เพื่อไปกินพืชของเกษตรกร ชาวบ้านจะทำรั้วไฟฟ้า แต่รั้วดังกล่าวไม่สามารถทนทานความแข็งแกร่งและความฉลาดของช้างได้ ช้างสามารถทำลายรั้วกั้นด้วยท่อนซุงขนาดใหญ่ หรือทำลายโดยผลักเพื่อนช้างให้ชนรั้ว ซึ่งจะพังตามแรงของช้าง
ผมเคยเห็นช้างตัวผู้และช้างตัวเมีย ช่วยกันอุ้มลูกช้างข้ามรั้วไฟฟ้า โดยใช้ง่วงประสานกัน ยกตัวลูกข้ามไป ถือว่าเป็นความคิด ความฉลาด ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับพวกเขา
ช้างมีความเสียสละ
ช้างมีนิสัยรักสะอาด ทุกครั้งก่อนจะกินพืชผักต่างๆ ช้างจะสลัดดินหรือโคลนที่ติดอยู่กับพืชผักก่อนเสมอ ชอบอาบน้ำ น.สพ.ภัทรพล ระบุว่าปัญหาที่ช้างจะพบเสมอหลังเล่นน้ำคือ ไม่สามารถเดินขึ้นมาจากบ่อได้เพราะขอบบ่อเป็นดินร่วน ภายในบ่อจะมีช้างหนึ่งตัวที่เสียสละเป็นบันไดให้เพื่อนก้าวข้ามขึ้นฝั่ง
ช้างตัวหนึ่งที่เสียสละจะยืนนิ่งๆ ให้ช้างตัวอื่น เหยียบตัวเขาขึ้นไปจนครบทุกตัว พอครบทุกตัวแล้วอีกปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ตัวสุดท้ายที่เป็นผู้เสียสละจะขึ้นไม่ได้ เพราะดินขอบตลิ่งหล่นหมดแล้ว และตัวเองก็หมดแรง ช้างที่ขึ้นไปได้แล้วก็พยายามช่วยเหลือกลับ หากช่วยไม่ได้ก็ส่งเสียงร้อง ให้เจ้าหน้าที่และชาวบ้านได้ยินเสียงและมาช่วยเหลือ
ช้างขี้งอน
ความซุกซนและความไร้เดียงสาของช้างเด็ก มักจะทำให้แม่และพี่ๆ ช้างเป็นห่วง ช้างเด็กจะวิ่งเข้าหาคนและวิ่งเข้าหารถ เพราะความอยากเล่น และบ่อยครั้งช้างเด็กจะถูกแม่ดุและตีเพื่อปราบความสนุก
แม่ช้างและพี่ๆ จะเตือนลูกช้างด้วยการส่งเสียงร้องก่อน ถ้าไม่หยุดจะวิ่งเข้าไปหา แล้วเอางวงโอบที่คอ บางทีก็ตีก้น บางทีใช้ขาหลังเตะไปที่ตัวลูกช้าง เหมือนเป็นการทำโทษ ลูกช้างที่ถูกทำโทษก็จะส่งเสียงร้อง แปร๋น ขึ้นมาดังๆ ก่อนจะวิ่งงอนเข้าไปในป่า แล้วเอาเท้าถูวนๆ กับดินหรือหญ้า พร้อมแกว่งงวงไปมา แสดงอาการงอน แต่เมื่องอนไปสักพักหนึ่ง ก็จะมีช้างตัวอื่นเดินมาหา เหมือนเดินเข้ามาปลอบ
ช้างจะปกป้องตัวที่อ่อนแอกว่า
น.สพ.ภัทรพล กล่าวว่า ช่วงที่มีภัยอันตรายเกิดขึ้นกับฝูงช้าง ช้างจะมีการจัดขบวนการยืนของช้างในฝูง โดยช้างตัวใหญ่จะห้อมล้อมให้ช้างตัวเล็กอยู่ตรงกลาง และตัวใหญ่จะหันหน้าออกข้างนอกเพื่อระวังภัย
จุฑาภรณ์ กัณหา ไทยพีบีเอสออนไลน์