ยกตัวอย่างไปที่การทุจริตงบประมาณอุดหนุนวัดทั่วประเทศ ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เมื่อถูกตรวจพบว่า ตั้งแต่ปี 2555 ข้าราชการระดับสูงในสำนักงาน พศ.ขอเงินทอนคืนจากเงินอุดหนุนวัด ซึ่งตำรวจกองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ สอบสวนและส่งสำนวนคดีไป ป.ป.ช.แล้ว 35 สำนวน มูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท
ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี การทุจริตงบประมาณกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เฉพาะในส่วนของศูนย์คนไร้ที่พึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบแล้ว 49 แห่ง พบความเสียหายเบื้องต้น 140 ล้านบาท และนิคมสร้างตนเอง 4 แห่ง กว่า 30 ล้านบาท
โครงการพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างอาชีพให้เกษตรกร หรือที่รู้จักกันว่า โครงการ 9101 รัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุน ตำบลละ 5 ล้านบาท เพื่อสร้างอาชีพให้เกษตรกรด้วยการทำปศุสัตว์ เลี้ยงไก่ ปลา ผลิตปุ๋ย ฯลฯ แต่กลับไปพบเอื้อประโยชน์ให้คนไม่มีกลุ่ม ทำโครงการที่ชาวบ้านไม่ได้ต้องการ
มีเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานในท้องถิ่นและคณะกรรมการร่วมกันทุจริต ให้ชาวบ้านที่ร่วมโครงการลงชื่อว่าทำงานครบ 5 วันเต็ม ทั้งที่ทำงานจริงเพียง 2 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น แต่กลับเบิกเงินออกไปครบและมาขอคืนจากชาวบ้าน อ้างว่าเงินต้องใช้ในการซื้ออุปกรณ์เพื่อทำโครงการต่อไป ซึ่งหากรวมความเสียหายเบื้องต้นที่มีการตรวจสอบพบ เฉลี่ยจังหวัดละ 200-400 ล้านบาท
ล่าสุด การทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ของข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นงบประมาณที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2537 เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้หญิงไม่ให้เข้าสู่ขบวนการค้าประเวณี และส่งเด็กเหล่านี้เข้าเรียนต่อในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และวิทยาลัยบรมราชชนนี ทั่วประเทศ ซึ่งตรวจสอบพบว่าในรอบ 10 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ.2551-2561 มีการทุจริตรวมทั้งสิ้น 88 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการทุจริตงบประมาณอื่นๆ อีก เช่น เบี้ยเลี้ยงตำรวจตระเวณชายแดนใน 3 จังหวัดภาคใต้, การทุจริตเงินลูกจ้าง 4,500 บาทจังหวัดชายแดนภาคใต้