ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“เพาะพันธุ์ปัญญา” ปลูกฝังวิธีคิดเชิงระบบ สร้างนักเรียนคิดเป็น-กล้าแสดงออก

สังคม
25 มี.ค. 61
16:36
2,275
Logo Thai PBS
“เพาะพันธุ์ปัญญา” ปลูกฝังวิธีคิดเชิงระบบ สร้างนักเรียนคิดเป็น-กล้าแสดงออก
โครงการ “เพาะพันธุ์ปัญญา” การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ปลูกฝังวิธีคิดเชิงระบบให้นักเรียนด้วยการตอบคำถามด้วยคำถาม ผ่านโครงงานวิทยาศาสตร์นำไปต่อยอดการเรียนและการประกอบอาชีพ

การสร้างการเรียนรู้โดยเฉพาะวิธีคิด นอกเหนือจากการสอนโดยปกติที่ผู้สอนมักเป็นผู้ถ่ายทอด บอกเล่าและเน้นการท่องจำให้กับนักเรียน การเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ที่เน้นการค้นหาคำตอบด้วยตัวเองจากผู้เรียนก็เป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจและโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม จ.ศรีสะเกษได้นำรูปแบบการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า โครงการ “เพาะพันธุ์ปัญญา” มาเป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้โดยให้นักเรียน

 

 

นายวิเชียร ไทยโชติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม จ.ศรีสะเกษ ผู้ดูแลโครงการเพาะปัญญา กล่าวว่า โครงการเพาะปัญญาจัดตั้งขึ้นเเพื่อต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในการคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ซี่งกระบวนการเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการคิดเป็นอย่างระบบสามารถนำไปปรับใช้ได้ รวมถึงฝึกทักษะการทำงานเป็นกลุ่มและการกล้าแสดงออก

 

 

โครงการดังกล่าวบรรจุอยู่ในรายวิชาที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ มัธยมศึกษาปีที่ 5 เรียนโดยใช้เวลาเรียนใน 2 เทอม เทอมแรกจะเป็นเชิงทฤษฎี ขณะที่เทอม 2 จะเป็นการเริ่มภาคปฏิบัติ โดยโครงงานต่างๆ จะใช้สิ่งรอบตัวนักเรียนและชุมชนมาเป็นโครงงานในการทดลอง เช่น การปลูกผักสวนครัว ผลไม้ พืชเศรษฐกิจ โดยการทดลองทั้งหมดจะนำวัสดุจ่กในพื้นทร่มาหมุนเวียนใช้ในโครงงานอย่างสอดคล้องกัน เช่น การปลูกผัก เศษผักที่เหลือจะนำไปทำปุ๋ยหรืออาหารปลา ขณะที่น้ำจากการเลี้ยงปลาจะนำไปรดน้ำผัก โดยทั้งหมดจะมีการตั้งตัวแปร และเก็บข้อมูลเพื่อหาผลลัพธ์ของการทดลองและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

 

จุดสำคัญของโครงการเพาะพันธ์ุ นอกเหนือจากวิชาการนี่คือการสอนหลักการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และเป็นระบบ ซึ่งให้นักเรียนนำไปใช้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตกับเรื่องอื่นๆได้ เราจะเน้นการสอนแบบเป็นกันเองโดยเน้นการตั้งคำถาม เพื่อให้นักเรียนไปหาคำตอบ เหมือนกับการให้เครื่องมือการหาปลากับเขาไปแล้วเขาก็สามารถไปหาปลาเองได้ จากนี้ไปไม่ว่าจะศึกษาต่อหรือไม่ศึกษาต่อก็สามารถนำวิธีคิดเหล่านี้ไปใช้ได้

นายวิเชียร กล่าวว่า การสอนในรูปแบบนี้จะไม่เหมือนการเรียนการสอนโดยปกติ แต่จะเป็นการตอบคำถามด้วยคำถามเพื่อให้นักเรียนไปหาคำตอบเอง ช่วงแรกนักเรียนอาจจะไม่เข้าใจแต่เมื่อได้ลองคิดหาคำตอบ ในที่สุดก็สามารถเรียนรู้และนำหลักคิดเหล่านี้ไปใช้ได้

 

 

ขณะที่ น.ส.ณัฐชา เพ็งบุญมา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หนึ่งในนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการเพาะปัญญา ระบุว่า กลุ่มของตนเองทำโครงงานการศึกษาสูตรอาหารอินทรีย์ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเลี้ยงปลานิล ด้วยการนำรำข้าวผสมไข่ไก่ รำข้าวผสมฝรั่ง รำข้าวผสมผักบุ้งมาทดลองใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลา จากการทดลองเลี้ยงเมื่อเดือน ม.ค.จนถึงปัจจุบันก็พบว่า การให้อาหารด้วยรำข้าวผสมฝรั่งช่วยให้ปลานิลมีอัตรารอดสูงและมีขนาดตัวที่โตกว่าการให้อาหารชนิดอื่น

 

วิธีการเรียนแบบนี้ค่อนข้างสนุก เพราะพวกเราต้องคิดหาคำตอบ โดยสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญ หาความรู้จากอินเตอร์เน็ต และการดูงานจากที่อื่นและนำมาใช้กับโครงงานของเรา และเมื่อได้ผลการทดลองก็สามารถนำไปผลิตสูตรอาหารปลานิลให้กับที่บ้านได้เพราะรู้แล้วว่ารำข้าวผสมกับอะไรแล้วปลาโตได้ดีกว่า

ขณะกลุ่มของนายชิตพล สุนัน น.ส.กุลนิษฐ์ จรเด็จ และ น.ส.สนธยา บุณร่วม ที่ร่วมทำโครงงานผลของเม็ดโฟมและเศษพืชต่อการเจริญเติบโตของต้นหม่อนโดยใช้โฟม และเปลือกไม้ กาบมะพร้าว บอกว่า เหตุผลในการทำโครงงานดังกล่าว เนื่องจากในช่วงที่ผู้ปกครองไม่ได้ทำนาก็จะหันมาปลูกต้นหม่อนเพื่อสร้างรายได้ จึงทำการทดลองเพื่อหาส่วนผสมของดินที่นำมาใช้ปลูกเพื่อเพิ่มอันตราผลผลิตของต้นหม่อน และผลจากการทดลองทำให้ทราบว่า การใช้เม็ดโฟมที่เหลือใช้จากการผลิตสินค้ามาผสมกับกาบมะพร้าวช่วยให้ดินมีอากาศที่ช่วยให้ต้นหม่อนเติบโตสังเกตได้จากขนาดต้น จำนวนใบ

 

 

รวมถึงยังมีโครงงานการศึกษาผลของอินทรีย์วัตถุต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้วย หรือการศึกษาชนิดของปุ๋ยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของผักกวางตุ้งฮ่องเต้ ซึ่งการทดลองค่อนข้างหลากหลาย

ขณะที่นายสุธีระ ประเสริฐสรรพ์ หัวหน้าโครงการวิจัยเพาะพันธุ์ปัญญา ระบุว่า โครงการเพาะพันธ์ุปัญญาเป็นโมเดลการศึกษาที่สร้างนักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยเป็นแนวคิดแบบสะเต็มศึกษา (STEM) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เน้นการนำความรู้ไปแก้ปัญหาในชีวิตจริงด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) มาบวกรวมกับหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการเรียนรู้เชิงวิทยาศาสตร์ผสมเศรษฐกิจพอเพียง กลายเป็นโครงงานแบบ (SEEM ) โดยมีหลัก วิทยาศาสตร์ (Science) เศรษฐศาสตร์ (Economics) นิเวศวิทยา ((Evology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) คณิตศาสตร์ (Mathematics) ซึ่งจะเป็นการทำโครงงานที่เกี่ยวกับระบบนิเวศน์ที่เป็นพื้นฐานของอาขีพเพื่อสร้างความคิดเชิงระบบและการคิดเชิงเหตุผลให้กับนักเรียน

ทั้งนี้ โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา เป็นความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ และธนาคารกสิกรไทย ร่วมจัดทำโครงการ “เพาะพันธุ์ปัญญา” ซึ่งเป็นโมเดลที่สร้างนักเรียนให้มีทักษาะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ผ่านการทำโครงการวิจัยและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการชีวิตต่อไปได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง