“น้องเมยรักกองทัพขนาดนี้ ได้ชื่อว่าเป็นเด็กนักเรียนเตรียมทหาร เขารักกองทัพและปกป้องกองทัพเหลือเกิน แต่ถามว่ากองทัพเคยดูแลอะไรเขาบ้างไหม เคยนับเขาเป็นเด็กนักเรียนเตรียมทหารบ้างไหม สุดท้ายกองทัพกลับเอาเรื่องน้องเมยมาพูดให้เสียหาย เราจึงต้องมากู้ชื่อเสียงและเกียรติยศ คืนให้ลูกชายเรา”
“เมย ระบมไปหมดแล้ว เราคุยกันประมาณ 10 นาที ลูกเล่าว่าโดนอะไรบ้าง แต่ยังไม่ทันได้เจาะลึกถึงชื่อบุคคลที่ทำร้ายลูกชาย.. ครั้งนี้เราไม่คิดว่าคุณจะเล่นกันหนักขนาดนี้เลยเหรอ มันเกินไปไหม”
“เราอยากค้นหาความจริงว่า ใครทำเขา ไม่ใช่อยู่ดีๆ เขาตายเอง.. เสียชีวิต หรือหัวใจวายเฉียบพลันตายเอง”
เสียงจากพ่อ-แม่ “เมย ภคพงค์ ตัญกาญจน์” อดีตนักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 หลังจากลูกชายเสียชีวิตปริศนากว่า 150 วัน
ไทยพีบีเอสสัมภาษณ์พิเศษ นายพิเชษฐ์ และ นางสุกัลยา ตัญกาญจน์ บิดาและมารดา ของนายภคพงค์ ตัญกาญจน์ หรือ “เมย” นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ซึ่งเสียชีวิต หลังจากเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเตรียมทหาร เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2560
นอกจากเอกสารสำคัญในคดีนี้แล้ว นางสุกัลยา ยังติดสมุดบันทึกเล่มสีฟ้า ที่ ”น้องเมย” ชอบเขียนบอกเล่าครั้งศึกษาอยู่ในรั้วโรงเรียนเตรียมทหารมาด้วย
มาถึงวันนี้ สิ่งที่มองเห็นจากสมุดบันทึก สะท้อนอะไร
นางสุกัลยา : “แม่ได้อ่านสมุดบันทึก กี่ครั้งก็เสียใจ ย้อนกลับไปดูตั้งแต่เริ่มแรกมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ภายในโรงเรียน และทำไมไม่มีใครกล้าพูดความจริง อ่านสมุดบันทึกแล้วส่วนที่แม่ติดใจมาก คือ 26 พ.ค.2560 ที่น้องเมยเขียนบันทึกว่า "เช้ามาก็โดนต่อยท้องไปหมดนึงจุกโคตรเลย แถมตกกลางคืนมามีลงนรกอีกเหนื่อยมาก" นี่เป็นบันทึกที่ทำให้ตัวแม่เอง มองย้อนกลับไปว่า ในรั้วโรงเรียนแห่งนี้ ทำไมจึงเกิดเหตุแบบนี้เกิดขึ้น มีการทำร้ายร่างกาย แต่ไม่ใช่การธำรงวินัย เพระธำรงวินัย คือ การฝึกให้เปลี่ยนบุคลิกก็ว่ากันไป แต่นี่คือการทำร้ายร่างกาย โดยการทำอะไรก็แล้วแต่เถอะ จะถีบ จะเตะ หรือจะอะไร แต่มันสมควรแล้วเหรอ มันถูกกฎระเบียบไหมกับทางโรงเรียนตั้งขึ้นมา บันทึกเหตุการณ์นี้น้องเมยเขียนหลังจากเป็นนักเรียนใหม่ได้ 46 วัน เริ่มเป็นนักเรียนใหม่ก็เอากันแล้วเหรอ มีการถึงมือถือเท้ากันแล้วเหรอ มันเริ่มอะไรมาจากไหน ใครเป็นคนสั่งให้ทำ แม่อยากรู้ ถ้าตามกฎระเบียบของโรงเรียนมันไม่มี แต่แม่อยากรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาเมื่อไร เกิดมาจากรุ่นไหน แล้วทำปฏิบัติต่อๆ กันมาเป็นรุ่น เป็นธรรมเนียมเหรอ”
บันทึกที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่ง แต่นอกเหนือจากบันทึก แม่ก็ยังได้พูดคุยกับลูก น้องเมยเล่าให้ฟังว่ามีเรื่องมาตลอด แต่ตรงนี้ไม่อยากพูดเพราะสัญญากับลูกชายไว้ว่า จะไม่พูดอะไร แต่ช่วงที่ครอบครัวได้เข้าไปที่กองทัพไทย (ม.ค.2561) ได้พูดคุยกับคณะกรรมการสอบสวน 11 คน เราเปิดใจคุยกัน และได้แสดงหลักฐานหลายๆ อย่างให้คณะกรรมการเห็น ส่วนตัวแม่บอกว่า ไม่อยากพูดเพราะคำสัญญาที่ให้ไว้กับลูกชาย ซึ่งลูกชายรักกองทัพขนาดนี้ ได้ชื่อว่าเป็นเด็กนักเรียนเตรียมทหาร เขารักกองทัพและปกป้องกองทัพเหลือเกิน แต่ถามว่ากองทัพเคยดูแลอะไรเขาบ้างไหม เคยนับเขาเป็นเด็กนักเรียนเตรียมทหารบ้างไหม
ปีนี้กำลังใกล้เปิดภาคเรียนใหม่แล้ว มองอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
นางสุกัลยา : อยากให้โรงเรียนดูแลเด็กให้ดีกว่านี้ อย่าปล่อยปละละเลย อย่าให้อำนาจกับนักเรียนบังคับบัญชามากเกินไป แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์ทำผิดจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ได้รับโทษน้อย เหมือนกับคดีน้องเมยเสียชีวิต แต่โทษของนักเรียนบังคับบัญชาที่กระทำผิด แค่โดนตัดแต้ม แค่โดนปลด มาตรการแบบนี้มันไม่หลาบจำ มันต้องมีมาตรการอะไรที่หนักกว่านี้
จุดอ่อนไหว-ความเสี่ยง โดนทำร้ายร่างกายในโรงเรียน
นายพิเชษฐ์ : มองย้อนกลับที่ผ่านมา มองว่าจุดอ่อนไหว หรือความเสี่ยง คือการเปิดให้รุ่นพี่หรือนักเรียนบังคับบัญชาเป็นคนสั่งน้องมากกว่านายทหารบังคับบัญชา กรณีน้องเมย ผมมองว่า ผู้บังคับบัญชาขาดการดูแลเอาใจใส่ ยังขาดไปนิดหนึ่ง แม้ผมจะไม่ได้อยู่ในโรงเรียนเตรียมทหารกับลูก แต่การกระทำของนักเรียนบัญคับบัญชามันบ่งบอกถึง การทำอะไรลงไป ทั้งๆ ที่เด็กซึ่งเป็นรุ่นพี่กับรุ่นน้อง มีวุฒิภาวะใกล้เคียงกันมาก รุ่นพี่คือคนกระทำ และเมย คือคนโดนกระทำ เพียงแต่ผู้กระทำเขาสอบได้ก่อน น้องเมยเขาสอบได้ทีหลังจึงเป็นรุ่นน้อง ตรงนี้ผมมองว่าจุดบอดมันอยู่ตรงนี้คือ การที่ผู้บังคับบัญชาปล่อยให้เด็กกับเด็ก ที่มีวุฒิภาวะใกล้เคียงกัน ดูแลกันเอง ขาดการเอาใจใส่ วุฒิภาวะใกล้เคียงกันเหมือนอยากโชว์ศักยภาพว่า ผมเป็นรุ่นพี่นะ
หลายๆ รุ่นที่ผ่านมา ที่เคยเกิดเหตุการณ์ในโรงเรียน ผมไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะน้องเมยเขาก็รักในสถาบันของเขา แต่ผมก็รักในตัวลูกผม แต่ก็ไม่อยากพูดอะไรมาก เรื่องแบบนี้ ผมมองว่าจะมีรุ่นพี่คุมก็ได้แต่ต้องมีนายทหารบังคับบัญชากำกับ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดเหตุแบบนี้ แล้วค่อยมาคิดแก้ไข ผมก็เห็นมีเป็นข่าวกันมาเรื่อยๆ เพียงแต่ก่อนหน้านั้นมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับครอบครัว แต่ก็ได้ยินมาตลอด ซึ่งปีนี้มีเด็กรุ่นใหม่กำลังเข้าไปเรียน ส่วนตัวผมคิดว่าปัญหาความรุนแรงแบบนี้จะไม่หมดไป แต่ปีนี้ 2561 ยังมองไม่ออกว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ แต่คิดว่าปัญหาเหล่านี้จะยังไม่หมดไป ถ้าไม่แก้ปัญหาระบบจริงจัง
ความคืบหน้าคดีขณะนี้เป็นอย่างไร
นายพิเชษฐ์ : การตามคดีที่ผ่านๆ มา ผมมองว่าคดีมีความล่าช้าเกือบทุกเรื่อง โดยเฉพาะกรณีลูกชายเสียชีวิต เหมือนไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากหน่วยราชการ ที่ขึ้นตรงกองทัพไทย จะหาพยานหลักฐานหนังสือก็ดี หรืออะไรต่างๆ ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ กว่าจะได้รับความมือก็นานมาก เช่น ปัจจุบันได้ขอหนังสือไปยังกรมข้อมูลข่าวสารเพื่อขอผลสอบครั้งที่หนึ่งและครั้งที่ 2 แจ้งตอบกลับมาว่าให้รอ 60 วัน คิดดูแล้วกัน 60 วัน นี่ 2 เดือนนะครับ ลูกชายเสียชีวิตมา 5 เดือนแล้ว ถ้าช้าไปอีก 2 เดือนคิดดูว่า คดีจะไปช้ามากขนาดไหน
ส่วนประจักษ์พยานหลักฐานต่างๆ ที่เป็นภาพเคลื่อนไหวในโรงเรียน ที่บอกว่าน้องเมยตกบันได แต่ช่วงเกิดเหตุ ก็ไม่ได้มีภาพเคลื่อนไหว ก็มีภาพนิ่งเท่านั้นแล้วมีขีดวงกลมๆ แดงอันนึง แล้วมาบอกสูง 1.50 เมตร 1.80 เมตร ผมเห็นแต่วงกลมอย่างเดียว แต่เรื่องจริงๆ ผมไม่เคยเห็นเลย ผมอยากเห็นภาพเคลื่อนไหวจากวงจรปิด ที่เป็นภาพเคลื่อนไหวจากกองพยาบาล แต่ก็ไม่เคยได้เห็นเลย
แล้วในฐานะผู้เสียหายที่ลูกชายผมเสียชีวิต พวกเราเคลื่อนไหวกันตามลำพังพ่อแม่ลูกไปที่ศาล แต่ผู้ถูกกล่าวหา มีทั้งเจ้าหน้าที่โรงเรียน มีนายทหารพระธรรมนูญ พร้อมรถโรงเรียนเตรียมทหารพาไป มองแล้วเหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรมเลย มันต่างกันเยอะ ผู้ตายกับผู้ถูกกล่าวหาต่างกันมาก ผมคือฝ่ายที่ถูกกระทำ
นางสุกัลยา : ในสมุดบันทึกน้องเมยมีเขียนเกี่ยวกับการโดนกระทำ หรือ ธำรงวินัยไว้มาก เช่น โดนพุ่งหลังแล้ว ยังมีแรงไปออกกำลังกายอีก มันเป็นไปได้ไหมเด็กที่เป็นโรคหัวใจ แล้วยังมีแรงไปออกกำลังกายอีก “ขุดจักรดาว” ก็มีเป็นอะไรที่โหด โดยพี่รหัส “ปล่อยม้า”ไปหลายรอบ ถ้าเด็กมีภาวะเป็นโรคหัวใจแค่เดินก็เหนื่อยแล้ว คงไม่มาทำอะไรได้แบบนี้ ถ้าเขาจะตาย ก็คงจะตายไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว
ในความล่าช้าของคดีที่เกิดขึ้น มองอีกมุมก็ยิ่งทำให้เราได้รับข้อมูลอะไรเพิ่มขึ้น หลายอย่างเริ่มไหลเข้ามา เช่น ข้อมูลวันที่ 26 พ.ค.2560 ในบันทึกน้องเมย ทำให้เรารู้ว่า ที่เขาโดนต่อยวันนั้น ใครเป็นคนทำเขา ชื่อ นามสกุล อะไร เป็นรุ่นพี่คนไหน เรารู้แล้วจากคนที่มาบอกเราเพราะเขาเห็นเหตุการณ์ ถ้าเรื่องนี้เราไม่เดินหน้าต่อสู้ มันอาจทำให้เกิดการเลียนแบบได้ แต่ถ้าเราจริงจัง เราเชื่อว่าจะเกิดการหยุดพฤติกรรมของเด็กพวกนี้ได้บ้าง”
นายพิเชษฐ์ : ผมมีข้อสังเกตที่ยังสงสัยด้วยครับ คือ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าฯ หลังจากน้องเมยเสียชีวิต ตั้งแต่ช่วงการผ่าพิสูจน์จนถึงช่วงทำพิธีทางศาสนา ผมติดใจว่าเมื่อผ่าเสร็จแล้ว ทำไมไม่นำเอาอวัยวะคืนร่างลูกชายผม จนผมมารู้อีกครั้งคือการผ่ารอบ 2 แล้ว จึงทราบว่าอวัยวะทั้งหมดไม่มีในร่างเลย ตรงนี้ผมหมดความเชื่อถือจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯไปแล้ว
จนถึงวันที่ผมไปรับอวัยวะที่โรงพยาบาล ผมได้ถามกับ ผอ.สถาบันพยาธิวิทยาของโรงพยาบาลว่า ผมจะเชื่อได้อย่างไรว่าลัง 2 ลังนี้ เป็นอวัยวะของลูกผมจริง เพราะผมไม่ได้เชื่อถือตั้งแต่แรก เพราะไม่ได้นำอวัยวะกลับคืนร่าง ถ้าผมเผาไปแล้ว ผมจะไม่รู้อะไรเลย และผมจะเชื่อได้อย่างไร ทุกวันนี้ ผมไม่เชื่อว่าเป็นของน้องเมยจริง จนมาถึงครั้งสุดท้ายที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจดีเอ็นเอ ผลออกมาเขาใช้คำว่าตรวจไม่ได้ ซึ่งตรวจไม่ได้กับไม่ใช่มันคืออะไร และเขาไม่ได้เหตุผลอะไรเลย ฟังแล้วมันทะแม่งๆ ผมไม่เชื่อว่าเป็นของลูกผม ซึ่งได้รับแจ้งมาว่าถ้าให้เวลามากกว่านี้ จะมีเวลาตรวจมากกว่านี้ โชคดีที่ผมไม่ได้เผาลูกตอนนั้น ถ้าผมเผาแล้ว ผมจะไม่รู้อะไรเลย
วันที่น้องเมยเสียชีวิต คุณแม่เป็นคนสุดท้ายที่โทรศัพท์คุยกับน้องเมย
นางสุกัลยา : คำพูดของเมย ในโทรศัพท์วันที่เสียชีวิต (17 ต.ค.2560) ที่บอกกับแม่ เขาพูดว่าโดนอะไรบ้าง แต่แม่ไม่อยากเอาเรื่อง แต่สุดท้ายกองทัพกลับเอาเรื่องเมยมาพูดให้เสียหาย เราจึงต้องมากู้ชื่อเสียงและเกียรติยศ คืนให้ลูกชายเรา วันนั้นน้องเมยเขาโทรมาพูดกับเราว่า เขา แม่ขอละไว้เขาระบมไปหมดแล้ว คุยกันประมาณ 10 นาที คุยกันรวมๆ ว่า ลูกโดนอะไรบ้าง แต่ยังไม่ทันได้เจาะลึกไปถึงบุคคลที่กระทำลูกชาย
ซึ่งครั้งนี้เราไม่คิดว่าคุณจะเล่นกันหนักขนาดนี้เลยเหรอ มันเกินไปไหม ที่น้องเมยบอกแม่ คือ พรุ่งนี้ (18 ต.ค.2560) เราเจอกัน เรานัดกันแล้ว เพราะตั้งใจอยู่แล้วว่าจะไปหาลูก เพราะเรารู้ว่าลูกเราโดนหนักแล้ว แต่ไม่คิดว่าจะเป็นการโดนกระทำที่หนักกว่าทุกครั้ง มันเกินไปแล้ว แม่รู้ว่าลูกโดนกระทำแบบไหน แต่ยังไม่ขอพูด แต่เราทราบหมดเพราะมีคนให้ข้อมูลเรา ถึงบอกว่า เหตุการณ์นี้ ยิ่งนาน ข้อมูลยิ่งไหลเข้ามา ส่วนจะถึงการมีการใช้อาวุธทำร้ายร่างกายด้วยหรือไม่ ขอยังไม่บอก แต่ขอให้ได้ข้อมูลแน่ชัดก่อนว่า อะไรที่ทำให้ถึงขั้นซี่โครงของน้องเมยหักได้”
นายพิเชษฐ์ : ที่พูดวันนี้ไม่ใช่เพื่อให้ร้ายโรงเรียนเตรียมทหารหรือกองทัพ แต่เจ้าหน้าที่บางคนของโรงเรียนเตรียมทหารและกองทัพไทย ที่พยายามกล่าวหาว่าน้องเมยมีโรคประจำตัว แต่กว่าจะได้เข้าโรงเรียน จปร.ได้ ผมคิดว่าถ้าร่างกายไม่ดีจริงคงเข้าไม่ได้ ผมจึงอยากหาความจริงให้ลูกชายและครอบครัวว่า ใครทำอะไรให้เขาเสียชีวิต ซึ่งข้อมูลขณะนี้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องมากกว่า 2 คนขึ้นไปแน่นอน และอาจมากกว่านี้อีก เราอยากค้นหาความจริงว่าใครทำเขา ไม่ใช่อยู่ดีๆ เขาตายเอง เสียชีวิต หรือหัวใจวายเฉียบพลันตายเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
5 เดือนผ่าน “เมี่ยง” ลุยหาข้อมูลสู้กู้ศักดิ์ศรีแทน “เมย”
3 เดือน คดี "เมย ภคพงศ์" ยังไม่มีเอกสารสรุป
ตำรวจทำคดีถูกย้าย ครอบครัว "น้องเมย" หวั่นกระทบสำนวนชันสูตรล่าช้า