วันนี้ (31 มี.ค.2561) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในงานเสวนา "ทางรอดอุตสหกรรมสื่อไทยในยุคดิจิทัล" ของผู้บริหารระดับสูง สถาบันอิศรา ว่า ปัญหาทีวีดิจิทัลเกิดจากในการประมูลเทคโนโลยีในปี 2556 เมื่อมีจำนวนช่องมากขึ้นทำให้ผู้ประกอบการคาดว่าจะทำรายได้อย่างมาก แต่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีโซเชียลมีเดียเข้ามา ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อรายได้ของสื่อทีวีลดลง
นายฐากร กล่าวว่า กสทช.จึงต้องเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหา ซึ่ง กสทช.พยายามจัดลำดับความสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาทั้งทีวีดิจิทัลและโทรคมนาคม โดยมองว่าการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน กสทช.ควรกำกับดูแลน้อยที่สุด เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันเอง ทั้งทีวีดิจิทัลและด้านโทรคมนาคม กสทช.จึงเตรียมแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ใบอนุญาตสามารถเปลี่ยนมือได้ เพราะอายุใบอนุญาตยังเหลืออีก 11 ปี แทนการคืนใบอนุญาต และจะได้ไม่ต้องขอให้ออกมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาอีก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา ส่วนการประมูลวิทยุดิจิทัล จะเดินหน้าต่อหรือไม่ กสทช.จะคำนึงว่า ธุรกิจจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ และขอให้ทีวีดิจิทัลปรับตัวก่อนจึงขยายระยะออกไปอีก 5 ปี เพราะหากมีวิทยุเพิ่มสองพันกว่าสถานี ก็จะส่งผลต่อทีวีดิจิทัล
นายเขมทัต พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท. กล่าวว่า แม้เนื้อหาจะเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ขึ้นอยู่กับการนำเสนอ หากถูกใจสื่อสังคมออนไลน์ ก็จะช่วยให้เนื้อหาได้รับความนิยม ขณะเดียวกันเมื่อมีทีวีดิจิทัลทำให้บุคคลากรเพิ่มขึ้น ตอนประมูลเจ้าของไม่ควรประมูลในราคาสูง จากการคำนวนที่ผิดพลาดและกฎหมายที่ลักหลั่น
หลังจากนี้ทางรอดของแต่ละสถานี คือการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การกระจายความเสี่ยงไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ สื่อสารมวลชนต้องปรับตัว และปรับกระบวนทัศน์ ก็จะทำให้ธุรกิจรุ่งเรืองได้