วันนี้ (8 เม.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรือประมง จ.ปัตตานี ประมาณ 300-400 ลำ ทยอยกลับเข้าฝั่ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ โดยเห็นว่าการออกกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงแต่ละครั้ง ส่งผลให้ชาวประมงที่จะออกจับสัตว์น้ำ สุ่มเสี่ยงต่อการประกอบอาชีพ เสมือนเป็นการกดดัน
ขณะที่ชาวประมงส่วนหนึ่งได้หยุดทำประมงไปแล้ว เนื่องจากกฎหมายที่เคร่งครัดเสี่ยงต่อการขาดทุน หากรัฐบาลไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ วันพรุ่งนี้ เรือกว่า 2,000ลำ ในจ.ปัตตานี พร้อมกลับเข้าฝั่งเพื่อประท้วงทันที
ส่วนที่จ.สงขลา ภายหลังได้ยื่นข้อเรียกร้องไปยังศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือศปมผ. ผ่านตัวแทนทัพเรือภาคที่ 2 สงขลา เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับกรณีการออกฎหมาย ข้อบังคับออกมาซ้ำซ้อนจากหลายหน่วยงาน ในช่วงที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรืออียู ซึ่งมีกำหนดเข้ามาตรวจการทำประมงในประเทศไทยระหว่างวันที่ 4 - 11 เม.ย.นี้
นายสุรเดช นิลอุบล นายกสมาคมประมงจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า หลังยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ ไปยังศปมผ. ก็ได้รับการตอบรับทันที ทำให้ไม่มีการนำเรือเข้ามาจอดเทียบที่ท่าเพื่อแสดงพลัง แต่ยืนยันว่า เรือประมงไม่น้อยกว่า700 ลำ พร้อมเดินทางกลับเข้าฝั่งภายใน 12 ชั่วโมง หากประสบปัญหา ข้อขัดแย้งที่จะส่งผลต่อการทำประมง
ด้านนายสฤษ์ภักดิ์ ภมรวิศิษฐ์ นายกสมาคมประมงกันตัง จ.ตรัง เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการจำกัดเครื่องมือที่ใช้ในการทำประมงพาณิชย์ และการออกระเบียบ กฎหมายต่างๆ ทำให้มีการรวมตัวกัน เพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมประมง และกระทรวงแรงงาน ขอให้ยกเลิกและทบทวนบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เพราะจะเป็นการทำลายอาชีพประมงพาณิชย์ ล่าสุด ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงแรงงาน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมากระทรวงละ 1 ชุด เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาแล้ว