วันนี้ (17 เม.ย.2561) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัทเฟซบุ๊ก เข้าให้การต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตต่างมีท่าทีสนับสนุนการจัดระเบียบสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าว แม้จะยังไม่มีการลงรายละเอียด
ขณะที่ผู้บริหารเฟซบุ๊ก ยอมรับว่า ข้อมูลส่วนตัวของเขาเองเป็นหนึ่งในจำนวนบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้งหมดประมาณ 87 ล้านบัญชี ที่ถูกบริษัท เคมบริดจ์ อนาไลติกา บริษัทที่ปรึกษาทางการเมืองสัญชาติอังกฤษนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม เพื่อวางแผนการหาเสียงเลือกตั้งผู้นำสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2559 และนอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังเก็บข้อมูลของผู้ที่ไม่ได้มีบัญชีใช้งานไว้เพื่อความปลอดภัยอีกด้วย
ขณะที่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก มองว่าคำให้การต่อคณะกรรมาธิการสภาคองเกรสของซักเคอร์เบิร์ก ที่ให้คำมั่นว่าจะปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานให้ได้ดีกว่าเดิมนั้นจะไม่มีความหมาย หากเฟซบุ๊กยังไม่เปลี่ยนแปลงแผนธุรกิจของบริษัท ซึ่งหากำไรจากโฆษณาโดยใช้ข้อมูลของผู้ใช้เป็นที่ตั้ง
ส่วนผู้เชี่ยวชาญในวงการสื่อสารมวลชนของสหรัฐฯ มองว่าคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นหลังการชี้แจง คือภาครัฐจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงการจัดระเบียบเฟซบุ๊กเพื่ีอความปลอดภัยหรือไม่ และภารกิจสำคัญของเฟซบุ๊กขณะนี้คือการปิดช่องโหว่ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการละเมิดข้อมูลของผู้ใช้งาน
ถึงแม้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จะกล่าวขอโทษ และยอมรับความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ ต่อหน้าสภาคองเกรส แต่สิ่งที่ทุกคนวิตกจากข้อมูลของผู้บริหารเฟซบุ๊ก ทำให้เห็นได้ว่า นี่อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องหาเสียงเท่านั้น แต่รวมถึงความมั่นคงระดับชาติอีกด้วย เพราะมีหลายกลุ่มคนพยายามจะใช้ข้อมูลชุดนี้ไปเพื่อต่อยอดสู่เรื่องต่างๆ แม้ทาง มาร์ก เองจะพยายามพัฒนาเครื่องมือต่างๆ มาเพื่อป้องกันก็ตาม
อ่านข่าวเพิ่มเติม
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก "กล่าวขอโทษ" หลังผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 87 ล้านคน ถูกล้วงข้อมูล
"เฟซบุ๊ก" เผยผู้ใช้ 87 ล้านบัญชีอาจถูกละเมิดข้อมูล