เนื่องจากวันที่ 22 ม.ย.ของทุกปี ถือเป็นวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ในปี 2561 นี้ เครือข่ายวันคุ้มครองโลก (Earth Day Network) ได้ประกาศแนวคิดวันคุ้มครองโลก คือ “End Plastic Pollution”
เนื่องมาจากมลพิษขยะพลาสติกกลายเป็นวิกฤตสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับปัญหาภาวะโลกร้อน กลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกที่นานาชาติให้ความสำคัญและถูกหยิบยกขึ้นหารือควบคู่กันในการประชุมระดับนานาชาติ
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (International Panel on Climate Change) หรือ IPCC ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศทำหน้าที่ประเมินด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้สร้างแบบจำลองอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 21 (พ.ศ. 2544-2643) พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกจะสูงขึ้นระหว่าง 0.3- 4.8 องศาเซลเซียส ซึ่งหากไม่ช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก ปล่อยให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียสจะเกิดภัยพิบัติ
ขยะพลาสติกสร้างปัญหาภาวะโลกร้อน เริ่มจากกระบวนการผลิตพลาสติกที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นวัตถุดิบ หากเราใช้พลาสติกมากเท่าใด ปริมาณก๊าซเรือนกระจกก็ยิ่งถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นเท่านั้น
ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ พบปริมาณขยะพลาสติกในประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 12 ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือประมาณ 2 ล้านตันต่อปี มีการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์น้อยมาก เฉลี่ยประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบหรือเตาเผา บางส่วนตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม
เลิกฝาขวดน้ำ 2.6 ล้านชิ้นภายในปี 2562
หลายมาตรการเพื่อกอบกู้โลกให้ลดการใช้พลาสติก เริ่มต้นขึ้นจากขยะใกล้ตัว เช่น กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สำรวจพบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตพลาสติกเพื่อบรรจุน้ำดื่มประมาณ 4,400 ล้านขวดต่อปี และมีสัดส่วนการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) ร้อยละ 60 หรือประมาณ 2,600 ล้านขวดต่อปี ทำให้เกิดขยะพลาสติก 2,600 ล้านชิ้นต่อปี คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 520 ตันต่อปี หรือมีความยาว 260,000 กิโลเมตร คิดเป็นความยาวรอบโลกถึง 6.5 รอบ
ฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) ถูกประกาศเลิกใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อลดปัญหาขยะมูลฝอยสะสมตามท่อระบายน้ำ ตั้งเป้าลดปริมาณขยะพลาสติก 2,600 ล้านชิ้น หรือ 520 ตันต่อปี และทำให้หมดไปภายในปี 2562
นำร่องอุทยานฯทางทะเลลดขยะทิ้งมหาสมุทร
ส่วน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำร่องพื้นที่ต้นแบบในการห้ามใช้พลาสติกและกล่องโฟม โดยให้ใช้วัสดุอื่นทดแทน เช่น กล่องกระดาษจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ การกำหนดให้เขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่งปลอดจากถุงพลาสติก นำร่องอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
มีเป้าหมายระยะยาวเพื่อลดขยะพลาสติกในทะเลให้ได้ 0.06-0.16 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 1.5 ชิ้นต่อคนต่อวัน เพื่อให้ประเทศไทยหลุดจากอันดับที่ 6 ของโลกที่ทิ้งขยะลงทะเลร้อยละ 1.03 ซึ่งมีงานวิจัยเราเพิ่มจำนวนขยะพลาสติกหลายล้านตันให้กับสิ่งแวดล้อมทางทะเล นักวิจัยว่ามนุษย์เพิ่มจำนวนขยะให้กับมหาสมุทรไปประมาณ 12 ล้านตันต่อปี
สำหรับขยะทะเลที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 23 จังหวัดชายทะเล มีปริมาณรวมกันมากถึง 10.7 ล้านตันต่อวัน จากการสำรวจโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) มีการจัด 10 อันดับขยะที่พบในท้องทะเลไทยมากที่สุดในปี 2558 ได้แก่ อันดับที่ 1 ถุงพลาสติก 15,850 ชิ้น อันดับที่ 2 หลอด,ที่คนเครื่องดื่ม 5,252 ชิ้น อันดับที่ 3 ฝา, จุก 4,419 ชิ้น อันดับ 4 เชือก 3,752 ชิ้น อันดับที่ 5 บุหรี่/ก้นกรองบุหรี่ 3,122 ชิ้น อันดับที่ 6 ถ้วยโฟม, กล่องโฟม 2,873 ชิ้น อันดับที่ 7 ขวดเครื่องดื่มแก้ว 2,065 ชิ้น อันดับที่ 7 ขวดเครื่องดื่มแก้ว 2,065 ชิ้น อันดับที่ 8 ขวดเครื่องดื่มพลาสติก 2,043 ชิ้น อันดับที่ 8 อื่นๆ 1,673 ชิ้น และอันดับที่ 10 ถ้วย จาน ช้อน ส้อม มีด 1,334 ชิ้น
“กลุ่มอียู” เดินหน้าลดขยะพลาสติกในอุตสาหกรรม
มีข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตพลาสติกยุโรป ระบุว่า ชาวยุโรปทิ้งขยะพลาสติกประมาณ 26 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ขยะร้อยละ 30 ที่ถูกส่งออกไปยังประเทศที่สามที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่ำกว่ายุโรป เพื่อรีไซเคิล แนวทางแก้ปัญหาเริ่มขึ้นโดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอ “ยุทธศาสตร์การจัดการพลาสติกของยุโรป”กำหนดเป้าหมายที่สำคัญ คือ บรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดในตลาดสหภาพยุโรปไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2573 เช่นเดียวกับที่ประเทศอังกฤษเตรียมเสนอให้ทั้ง 53 ประเทศ ให้ยกเลิกการใช้หลอดพลาสติกและคัตตอนบัดส์ เพื่อลดจำนวนการใช้พลาสติกในโลกลงซึ่งคาดว่าจะลดได้มากถึง 8.5 พันล้านชิ้น
ไทยชาติแรกอาเซียนสร้าง Big Data คำนวณก๊าซโลกร้อน
นางรวิวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เห็นชอบการจัดทำโครงสร้างการติดตามรายงานผลก๊าซเรือนกระจกของไทย 5 กลุ่ม คือ พลังงานและขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคของเสีย ภาคเกษตร และภาคป่าไม้ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเข้าระบบฐานข้อมูลหลักในการคำนวณบัญชีก๊าซเรือนกระจกของไทยขึ้นมาเฉพาะ
ถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่จะใช้ระบบฐานข้อมูลสาระสนเทศในการคำนวณบัญชีก๊าซเรือนกระจก (ทีจิส) ให้เป็นระบบ Big Data ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียให้การสนับสนุนไทย โดยไทยได้จัดทำระบบนี้เสร็จแล้ว และจะใช้เป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดตัวเลขการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยในปี 2030 ให้ได้ร้อยละ 20-25 จากการปล่อยปกติของไทย โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป