วานนี้ (24 เม.ย.2561) องค์กรไม่แสวงผลกำไร Elephant Family เปิดเผยในรายงานล่าสุดเรื่อง “Skinned - The Growing Appetite for Asian Elephants” ว่า การฆ่าช้างถลกหนังในประเทศเมียนมาเพื่อป้อนตลาดอาชญากรรมข้ามชาติในจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น
รายงานดังกล่าวเป็นการรวบรวมผลการวิจัย และลงพื้นที่ในประเทศเมียนมา ตลอดจนติดตามเส้นทางการค้าผิดกฎหมายของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากหนังช้างไปจนถึงแหล่งขาย รวมถึงข้อมูลผู้ค้าในประเทศจีน ตั้งแต่พ.ศ. 2557 และได้เปิดเผยให้เห็นภัยคุกคามช้างเอเชียของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ที่น่าเป็นห่วง
ในรายงานพบว่า หนังช้างได้ถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลัก 2 ประเภท คือ 1. ทำยา โดยนำหนังช้างอบในเตาให้แห้งและบดเป็นผง เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในยาแผนโบราณที่ถูกอ้างว่าสามารถรักษาอาการปวดท้อง หรือบางแห่งอ้างว่าสามารถรักษามะเร็งในช่องท้อง หรือ นำไปผสมกับไขมันช้างเพื่อทำเป็นครีมรักษาอาการติดเชื้อทางผิวหนัง
ส่วนประเภทที่ 2 นำเนื้อในชั้นใต้ผิวหนังไปทำให้แห้งแล้วแกะเป็นลูกปัด เพื่อทำเป็นกำไล และสร้อยคอ หรือตัดเป็นชื้นสี่เหลี่ยม เพื่อทำเป็นจี้ โดยถูกนำไปประกาศขายในตลาดออนไลน์ของจีนว่าเป็นเครื่องประดับหายาก น่าสะสม โดยแหล่งแปรรูปหนังช้าง อยู่ที่เมียนมาและลาว
ผู้ค้าโพสต์ภาพผลิตภัณฑ์จากหนังข้างบนโซเชียล มีเดีย และแอปพลิเคชันแชท และส่งให้ลูกค้าผ่านทางไปรษณีย์ นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังมีวางจำหน่ายในมณฑลยูนนาน กวางตุ้ง และฝูเจี้ยน แต่ผู้ใช้บางส่วนนิยมซื้อหนังช้างแห้งเป็นแผ่นๆ ที่ยังมีขนช้างติดอยู่เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นหนังช้างแท้ แล้วจึงนำไปบดเป็นผงเอง
เบลินดา สจ๊วท-ค็อกซ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ องค์กร Elephant Family กล่าวว่า "เรากำลังเห็นการค้าผลิตภัณฑ์หนังช้างบดผิดกฎหมายทางออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยแหล่งที่มาของหนังช้าง ก็คือ ช้างในเมียนมาร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นั่นได้เริ่มเห็นแนวโน้มวิกฤตการฆ่าช้างถลกหนังที่รุนแรงขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 จนถึงตอนนี้
รายงานของเราสะท้อนว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องยกระดับปัญหานี้ให้ทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาคประชาสังคมได้ทราบ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา ก่อนที่มันจะลุกลามกลายเป็นวิกฤตที่หนักหนาสาหัสเกินจะแก้ไข หากกรณีแบบนี้เกิดขึ้นที่เมียนมาร์ ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์เดียวกันนี้กับช้างที่ประเทศไหนก็ได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออินเดีย ขณะนี้ไม่มีช้างเอเชียตัวไหนที่ปลอดภัย
รายงานอ้างข้อมูลของกรมป่าไม้เมียนมาว่า ในปีพ.ศ.2553 พบซากช้าง 4 ตัว พ.ศ.2556 พบช้างถูกฆ่า 26 ตัว และในปี 2559 จำนวนช้างที่ถูกฆ่าอยู่ที่ 61 ตัว ส่วนเมื่อปีที่แล้ว ข้อมูลของรัฐบาลเมียนมาระบุว่าอยู่ที่ 59 ตัว แต่การคาดการณ์จากหลายแหล่งประเมินว่า จำนวนที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้ โดยสาเหตุการตายส่วนใหญ่เกิดจากการฆ่าช้างเพื่อเอาชิ้นส่วน โดยวิธีการทำให้ช้างตายก่อนที่จะถลกหนัง คือ การยิงลูกดอกอาบยาพิษให้ช้างตายช้าๆ อย่างทรมาน