นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากของไทยว่า ทะเลไทยมีเต่าทะเล 5 ชนิด และสัตว์ทะเลหายาก 28 ชนิด จากทั่วโลกมี 84 ชนิด โดยสัตว์ทะเลหายากส่วนใหญ่ ได้แก่ เต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ คาดมีประชากรเต่าทะเล 1,500-3,000 ตัว พะยูน 200-250 ตัว โลมาและกลุ่มวาฬ 2,000 ตัว ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ การช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูจำนวนประชากรสัตว์ทะเลหายาก
นายจตุพร กล่าวอีกว่า ได้ปรับปรุงอาคารศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง พร้อมจัดซื้อรถช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเพื่อความรวดเร็วในการช่วยเหลือสัตว์ทะเล โดยมีครุภัณฑ์และห้องทำงาน เช่น ห้องศัลยกรรมและการวินิจฉัยด้วยกล้อง ห้องตรวจรักษาและวินิจฉัยโรคทั่วไป ห้องปฏิบัติการทางสัตวแพทย์และรังสีวินิจฉัย ห้องพักสัตว์ป่วย ห้องวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา ตั้งเป้าเพิ่มอัตราการรอดชีวิต ร้อยละ 30
เชื่อมั่นว่าจากระบบการทำงานเป็นเครือข่ายกว่า 800 คน มีเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญสูงและอุปกรณ์ ห้องทำงานที่ได้มาตรฐาน จะช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์เกยตื้นสำเร็จได้มากขึ้น ร้อยละ 30 ตามที่ได้วางเป้าหมายไว้
ขณะที่ น.สพ.วีรพงษ์ เหล่าเวชประสิทธิ์ สัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก กล่าวว่า เต่าที่ได้รับบาดเจ็บและเกยตื้น ส่วนใหญ่จะได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของมนุษย์ เช่น ถูกเครื่องมือประมง ติดอวน ขยะทะเลจากบ้านเรือน หรือนักท่องเที่ยวที่ทิ้งขยะบนชายหาด บางกรณีเต่าอาจถูกเครื่องมือประมงเกี่ยวรั้งบริเวณรอบแขนจนแขนขาด เนื่องจากการขาดเลือด หรือกินขยะเข้าไปแล้วอุดตันระบบทางเดินอาหารจนตาย นอกจากนี้อาจเกิดจากโรค เช่น ติดเชื้อแบคทีเรียจนป่วยและไม่มีแรงว่ายขึ้นมาเหนือผิวน้ำ โดยทางศูนย์ฯ ได้เข้าช่วยเหลือเต่าทะเลเกยตื้นในพื้นที่ จ.ระยอง จ.ชลบุรี จ.จันทบุรี และ จ.ตราด เฉลี่ย 10 ตัวต่อเดือน
น.สพ.วีรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางศูนย์ฯ ได้รับรถช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากมาได้ 2 เดือน หวังว่าจะขนส่งสัตว์ด้วยภาวะเครียดน้อยที่สุด หรือใช้เป็นแล็บเคลื่อนที่ เอ็กซเรย์ อัลตราซาวน์ ตรวจเลือดในกรณีสัตว์ทะเลที่มีหนักมาก เช่น โลมา พะยูน ซึ่งการเพิ่มความทันสมัยของเครื่องมือและอุปกรณ์จะเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของสัตว์เจ็บป่วย ร้อยละ 5-10 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ต้องให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลสัตว์ทะเลควบคู่ไปด้วย เพราะระหว่างการขนส่งสัตว์เจ็บและการเผชิญเหตุเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ยกตัวอย่าง โลมา วาฬ พะยูน มักจะตายจากสาเหตุความเครียดขณะช่วยชีวิต ซึ่งสัตว์ดังกล่าวสามารถกลั้นหายใจจนตายได้ หรืออัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้สัตว์ช็อก โดยศูนย์วิจัยฯ ได้ร่วมกับเครือข่ายชาวบ้าน ชาวประมง นักท่องเที่ยว ตลอดแนวชายฝั่ง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เพื่อแจ้งเหตุเบื้องต้นให้ทันท่วงที และทีมงานจะออกไปรับเคสสัตว์ทะเลที่เจ็บป่วยมาพักฟื้นที่โรงพยาบาลสัตวทะเลหายาก เพื่อรักษาทั้งทางยา อายุรกรรม ศัลยกรรม ส่วนสัตว์ที่ตายแล้วจะชันสูตรหาสาเหตุการตาย และวางมาตรการแก้ปัญหาและป้องกันต่อไป
สัตว์ทะเลที่กินขยะช่วยได้ยากกว่าเป็นโรคเอง เมื่อขยะอุดตันระบบทางเดินอาหาร ต้องส่องกล้องเข้าไปทางปาก หรือเข้าไปทางทวารหนัก ใช้ซ้อม หรือที่คีบเล็กๆ คีบออกมา หมอเคยผ่าวาฬเพชฌฆาตดำ ยาว 5 เมตร พบในท้องมีแต่ขยะ อวนที่ขาดแล้วและเบ็ดเกี่ยวพันจนแน่นกระเพาะอาหาร หนัก 5 กิโลกรัม ต่อให้คีบยังไงก็ไม่มีหมด
สถิติปี 2558-2560 ทช. ร่วมกับเครือข่ายองค์กรในพื้นที่ มหาวิทยาลัย ชุมชนมากกว่า 25 แห่ง และอาสาสมัครชุมชนกว่า 800 คน ช่วยเหลือและจัดการสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น เฉลี่ยปีละ 419 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล ร้อยละ 57 โลมาและวาฬ ร้อยละ 38 และพะยูน ร้อยละ 5 สาเหตุการเกยตื้นสำหรับเต่าทะเลและพะยูนส่วนใหญ่เกิดจากเครื่องประมง ร้อยละ 74 และ ร้อยละ 89 ตามลำดับ ส่วนการเกยตื้นของโลมาและวาฬส่วนใหญ่เกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ ร้อยละ 63