วันนี้ (13 พ.ค.2561) นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย มีมติให้สมาชิกผู้ประกอบการรถบรรทุก 50,000-60,000 ราย ที่มีรถบรรทุกให้บริการรวม 400,000 คัน ปรับขึ้นค่าขนส่งสินค้าทุกประเภททั่วประเทศในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 ผู้ประกอบการรถบรรทุกจึงได้ปรับขึ้นค่าขนส่งไปแล้ว เนื่องจากอัตราค่าขนส่งเดิม ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งมีภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนขนส่งที่สำคัญ ปรับราคาเพิ่มลิตรละ 3 บาท จากลิตรละ 25 บาท เป็น 28 บาท ค่าแรงงานภาคขนส่งเพิ่มขึ้น โดยค่าแรงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปรับเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 330 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา รวมถึงปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนักภายในท่าเรือกรุงเทพฯ (ท่าเรือคลองเตย), ท่าเรือแหลมฉบังและสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) ลาดกระบัง ทำให้รถบรรทุกต้องจอดรอนานเที่ยวละ 6-10 ชั่วโมง ซึ่งสามารถทำรอบขนส่งได้เพียงวันละ 1 เที่ยวเท่านั้น ขณะเดียวกัน บริเวณชายแดนด่านอรัญประเทศ, ด่านสะเดา และด่านแม่สอดในปัจจุบันก็เริ่มเกิดปัญหาการจราจรติดขัดเช่นกัน
นายทองอยู่ ยังกล่าวต่อว่า การปรับค่าขนส่งครั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถปรับขึ้นได้ตามภาระต้นทุนที่แท้จริง โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคม พร้อมยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าขนส่ง อาจส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งจำเป็นต้องปรับราคาขนส่ง เพราะไม่ได้ปรับมา 2-3 ปีแล้วไม่สามารถแบกภาระต้นทุนต่อไปได้อีก