วันนี้ (18 พ.ค.61) นส.พ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน มีเนื้อที่ประมาณ 130,000 ไร่ สามารถรองรับช้างได้ไม่เกิน 500 ตัว แต่ปัจจุบันมีช้างอาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้ประมาณ 424 ตัว
การคำนวณของสัตวแพทย์ พบว่าช้างป่าเขาอ่างฤาไนมีอัตราส่วนการขยายพันธุ์ อยู่ที่ร้อยละ 7 ต่อปี เฉลี่ย 1 ปี จะมีช้างเกิดใหม่ประมาณ 35 ตัว และอีก 2 ปีข้างหน้า จำนวนช้างในป่าแห่งนี้จะมีเกินกว่าที่พื้นที่ป่าจะรองรับได้
นอกจากป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกแล้ว การสำรวจทั่วประเทศมีช้างป่าประมาณ 4,000 ตัว พบมากที่สุดในกลุ่มป่าตะวันตก เช่น แก่งกระจาน สลักพระ ห้วยขาแข้ง 600 ตัว, กลุ่มป่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 600 ตัว, กลุ่มป่าภาคใต้ พบที่ป่าคลองแสง-เขาสก จ.สุราษฎร์ธานี 150 ตัว และกลุ่มป่าภาคเหนือ เช่น แม่วงก์ และป่าอุ้มผาง 300 ตัว ขณะที่หลายพื้นที่ประสบปัญหาช้างออกจากป่า บุกรุกพื้นที่ทำกินของประชาชนมากขึ้น เนื่องจากปริมาณอาหารในป่าไม่เพียงพอ อาจเป็นเพราะปริมาณช้างเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่ป่าลดลง