วันนี้(18 พ.ค.2561) นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดจาก ผศ.ดร.นพดล กิตนะ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการพบการปนเปื้อนสารพาราควอต ในกบหนอง ปูนา หอยกาบน้ำจืด และปลากะมัง มีค่ามากกว่าระดับสูงสุดที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ จำกัดให้มีในอาหาร (เนื้อสัตว์) ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม โดยปริมาณที่พบในปูนา อยู่ระหว่าง 24- 56 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม พบในกบหนอง 17.6- 1,233.8 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม พบในปลากะมัง 6.1-12.5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และพบในหอยกาบน้ำจืด 3.5-7.7 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม
นอกจากนี้ยังพบในอาหารแปรรูปอย่างน้ำปู๋ หรือน้ำปู ซึ่งโดยกระบวนการผลิตต้องผ่านความร้อนที่สูงมาก ยังพบว่าปริมาณการตรวจพบพาราควอต ไม่ได้ลดลงกว่าปูนา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย โดยปริมาณที่พบเกินถึง 200 เท่าในบางตัวอย่างที่ตรวจสอบ
นางสุภาพร กล่าวว่า ก่อนนี้ชาวบ้านจับสัตว์ในไร่นากินได้ แต่เจอค่าการตกค้างแบบนี้แล้ว ใครจะกล้าเอาของในไร่ในนา หรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติใกล้ไร่นามากิน ข้อมูลมันชัดมากว่าไม่ใช่แค่ผู้ใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยง คนทุกคนมีความเสี่ยงไม่ต่างกัน เป็นปัญหาความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารด้วย
ด้านน.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า นอกจากการตรวจพบในสิ่งแวดล้อมแล้ว ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ นักวิจัย เมีข้อมูลว่ามีการตกค้างในร่างกายคน สารกำจัดวัชพืชมันส่งต่อจากแม่ไปสู่ลูกได้ มีการตกค้างของพาราควอตในซีรัมเด็กแรกเกิดและมารดาระหว่าง 17-20 % เขายังบอกอีกว่าคนท้องที่ทำเกษตรช่วง 6-9 เดือนของการตั้งครรภ์ พบพาราควอต ตกค้างมากกว่าคนท้องที่ไม่ได้ทำงานถึง 5.4 เท่าและตรวจพบพาราควอตในขี้เทาเด็กแรกเกิดสูงถึง 54.7% เด็ก 2 คนที่เกิดในพื้นที่เกษตร อาจจะมี 1 คนที่ได้สารอันตรายแถมมาโดยที่เขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ด้านน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องนี้อยากเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการวัตถุอันตรายเห็นแก่ความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค เห็นแก่สุขภาพของคนทั้งประเทศขอให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอต ในการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 23 พ.ค.นี้
สำหรับน้ำปู เป็นอาหารดั้งเดิมของภาคเหนือ ใช้เป็นเครื่องปรุงรสอาหารบางอย่าง เช่นเดียวกับกะปิ นิยมนำน้ำปู มาตำน้ำพริก เรียกว่า น้ำพริกน้ำปู ใช้เป็นเครื่องปรุงอาหาร เช่น ยำหน่อไม้ แกงหน่อไม้ ตำส้มโอ ตำกระท้อน