วันนี้ ( 22 พ.ค.2561) นางสุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์นโยบายด้านสังคมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า คสช.เคยประกาศนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ในการแถลงนโยบายครั้งใหญ่เมื่อปี 2557 แต่ตลอด 4 ปี พบว่านโยบายดังกล่าวยังดำเนินการได้ไม่ดีนัก แม้จะมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาหลายๆ ด้าน พร้อมยกตัวอย่างนโยบายที่ยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้
นโยบายด้านแรงงาน
นางสุนี กล่าวชื่นชมการปราบปรามการค้ามนุษย์ในกลุ่มแรงงาน รวมถึงปัญหาการทารุณกรรมต่อแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลชุดนี้ที่มีความพยายามอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังติงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ยังขึ้นน้อย ซึ่งปัญหานี้จะส่งผลต่อระบบแรงงานในอนาคต
นโยบายสวัสดิการช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาส
นางสุนี กล่าวว่า รัฐบาล คสช.ยังใช้แนวคิดแบบสงเคราะห์ในการจัดสวัสดิการแก่ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ สตรี และเด็ก เห็นได้จากโครงการเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดที่ให้เงินสนับสนุนรายเดือน แม้จะเพิ่มจำนวนเงินจาก 400 บาท เป็น 600 บาท และเพิ่มช่วงอายุขยับมาที่ 0-3 ปี แต่โครงการนี้ก็ยังมีช่องว่างเพราะให้เฉพาะแก่เด็กยากจน และยังมีเด็กจำนวนมากเข้าไม่ถึงโอกาสดังกล่าว โครงการนี้ควรเป็นโครงการเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นการคุ้มครองสังคมทั้งระบบ
ขณะที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาคนจนที่ถูกวิธี มีเพียงคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ สะท้อนให้เห็นถึงฐานคิดที่ผิดทาง การแก้ปัญหาคนจนควรทำทั้งระบบด้วยการปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้คนมีที่ดินทำกิน และปฏิรูประบบภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ คาดว่าในอนาคตอาจเกิดปัญหาหลายด้าน
การแก้ปัญหาเป็นชิ้นๆ เป็นจุด จุด จุด ของ คสช. มันจะพันออกมาตรงที่ว่า คนจนแท้ๆ อาจเข้าไม่ถึงระบบทั้งหมดที่เกิดขึ้น และไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เอาเงินมาให้คนจนนิดๆ หน่อยๆ คนที่ได้ประโยชน์คือบริษัทขนาดใหญ่
แก้ปัญหาไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรและการรุกล้ำเขตป่าสงวน
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา พบว่าปัญหานี้ทำให้ประชาชนทุกข์หนักที่สุด เพราะปัญหาที่ดินและปัญหาโฉนดชุมชนไม่มีความคืบหน้า ไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนถูกจับและถูกไล่ออกจากพื้นที่จำนวนมากกับนโยบายทวงคืนผืนป่า ทั้งยังส่งผลให้คนจนและคนระดับกลางได้รับผลกระทบไม่มีที่ดินทำกิน
นโยบายที่เขียนไว้สวยหรูว่า ต้องลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม มันแก้ปัญหาได้เฉพาะจุดเล็กๆ แต่โครงสร้างใหญ่ไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้คนเดือดร้อนมากขึ้น
นางสุนี ทิ้งท้ายว่าหลายๆ รัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคนจน นโยบายส่วนใหญ่จะเอื้อต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่เท่านั้น เห็นได้ชัดในขณะนี้คือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่กระทบต่อชุมชน มีโครงการขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมและไม่มีโอกาสต่อสู้
ดังนั้น นโยบายและทิศทางการพัฒนาที่แถลงว่ายั่งยืน และระบุว่าสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ จึงเป็นได้เพียงคำโฆษณาของรัฐบาลเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงทำไม่ได้