หลังการตรวจสอบพบโรงงานคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมายใน จ.ฉะเชิงเทรา โดยพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีโรงงานแยกขยะ 18 แห่ง ซึ่งมีแห่งเดียวเท่านั้นที่มีการอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งนายสุรพล ชามาตย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เชื่อว่าเบื้องหลังเป็นนักธุรกิจชาวจีน ร่วมมือกับคนไทยนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยแจ้งรายละเอียดไม่ตรงกับวัตถุจริง หรือการสำแดงเท็จ
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มทยอยเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้นช่วงปี 2560 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกส่งมาจากยุโรปและอเมริกาจะถูกส่งไปยังประเทศจีน แต่หลังปี 2560 ประเทศจีนปิดกั้นการนำเขาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้ขยะจำนวนมากถูกส่งไปยังประเทศที่ 3 รวมถึงประเทศไทย โดยขยะเหล่านี้ต้นทุนต่ำ เฉลี่ยตันละ 30,000 บาท และอาจมีโปรโมชั่น 1 ตัน แถม 1 ตัน เพราะประเทศต้นทางต้องการระบายออก
การตรวจโรงงานที่ จ.ฉะเชิงเทรา พบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 2.ไดนาโม และ 3. พาวเวอร์ซัพพลาย ซึ่งของเหล่านี้มักพบสารที่มีมูลค่า ยกตัวอย่างเช่น แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อนำไปชุบสารเคมีจะสามารถสกัดตะกั่ว จากนั้นนำไปสกัดทองแดงและอะลูมิเนียมต่อไป ซึ่งหากโชคดีจะพบทั้งทองคำ ทองคำขาว และเหล็กด้วย
ส่วนสิ่งที่เหลือจากขั้นตอนเหล่านี้คือ แผงวงจร ที่เรียกว่า PCB ที่ไม่มีมูลค่าและต้องถูกกำจัด วิธีที่ถูกต้องคือ การจ้างบริษัทเอกชนนำไปทำลาย ด้วยวิธีการบดแล้วเผา หรือการฝั่งกลบ ซึ่งประเทศไทยมีบ่อฝั่งกลบ 3 แห่งเท่านั้น โรงงานเถื่อนจึงเลือกที่จะนำขยะไปทิ้งตามที่รกร้างเพื่อลดต้นทุนในการทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม
ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นปัญหาใหญ่ทั้งระบบ ตั้งแต่การลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ จนนำมาสู่การตั้งโรงงานคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องช่วยกันแก้ไข