ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปักหมุดจังหวัดเสี่ยง ลักลอบทิ้งขยะอันตราย

สิ่งแวดล้อม
25 พ.ค. 61
13:45
4,659
Logo Thai PBS
ปักหมุดจังหวัดเสี่ยง ลักลอบทิ้งขยะอันตราย
มูลนิธิบูรณะนิเวศ สรุปกฎหมายไทย-อนุสัญญาบาเซล เอื้อนักลงทุนจีน และช่วยปลดล็อกขนขยะไฮเทค กากอุตสาหกรรมเข้ามากำจัดในไทยอย่างเสรี เปิดโรงงานประเภท 105 และ 106 รองรับรีไซเคิล ส่งผลลักลอบฝังกลบในพื้นที่ชุมชน บ่อขยะเพิ่ม

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบเส้นทางการลักลอบนำของเสียอันตราย โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ นำเข้าประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย หลังจาก พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยกำลังทหาร เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยต่างๆ ปฏิบัติภารกิจทลายโรงงานกำจัดขยะของบริษัทดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา ที่พบว่าเป็นนายทุนต่างสัญชาติจีน โดยรับซื้อขยะจากทั่วโลก 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มทยอยเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้นช่วงปี 2560 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกส่งมาจากยุโรปและอเมริกาจะถูกส่งไปยังประเทศจีน แต่หลังปี 2560 ประเทศจีน ปิดกั้นการนำเขาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้ขยะจำนวนมากถูกส่งไปยังประเทศที่ 3 รวมถึงประเทศไทย โดยขยะเหล่านี้ต้นทุนต่ำ เฉลี่ยตันละ 30,000 บาท มีข้อมูลว่ามีขยะไฮเทคเข้ามาในไทยพื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา กว่า 100,000 ตัน 

 

ภาพ : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ภาพ : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ภาพ : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

ช่องโหว่ กม.ไทยเปิดเสรีนำเข้าขยะพิษ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ วิเคราะห์ว่าปัญหาขยะอุตสาหกรรม การนำเข้าขยะพิษ โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาไนไทยได้ง่าย เกิดจากช่องโหว่ของกฎหมายไทย การบังคับใช้กฎหมาย บทลงโทษ และการปลดเงื่อนไขของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้เอื้อต่อการเปิดเสรีการค้าให้นายทุนไทยและต่างประเทศ 

จากการตรวจสอบพบว่ากฎหมายไทย อ้าแขนรับขยะไฮเทค ขยะพิษ ที่ชัดเจนคือกรณีทำข้อตกลงเสรีค้ากับญี่ปุ่นเมื่อ 10 ปีก่อน ในสัญญาในไทย-ญี่ปุ่น จะมีข้อตกลงนำเข้าขยะ 100 รายการอยู่ในภาคผนวก ต้องไม่มีกำแพงการค้า เช่น ภาษีนำเข้า ส่งออก จากเดิมถ้าจะนำขยะจากญี่ปุ่นจะต้องเสียภาษีแพงมาก และการตรวจสอบหน้าด่านศุลกากร ตรวจตู้คอนเทนเนอร์ที่ทุกอย่างตอนนี้การตรวจสอบ หมดไปเหลือสุ่มตรวจเพียงแค่ร้อยละ 10

ในปี 2545 กรมโรงงานได้อนุญาตให้มีโรงงานใหม่ 2 ประเภทคือประเภท 105 ให้เป็นอุตสาหกรรมในการคัดแยกขยะอุตสาหกรรม และประเภท 106 การแปรรูปของเสียหรือโรงงานรีไซเคิล และจากนั้นส่งเสริมให้จัดตั้งโรงงานเพิ่มขึ้น ด้วยการแก้ไขกฎกระทรวงและประกาศหลายฉบับ การบังคับใช้ปี 2558 ประกาศยกเว้นสินค้าในบัญชีข้อ 5.6 ไม่ต้องปฏิบัติตามพรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 เช่น ผู้ประกอบการไม่ต้องติดฉลาก หรือไม่ต้องรายงานต่อกรม

 

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง  ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

 

ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ขณะที่ช่องโหว่จากอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายขยะมีพิษข้ามพรมแดนและการกำจัดขยะพิษ ซึ่งไทยเข้าเป็นรัฐภาคีเมื่อ ก.พ.2541 เนื่องจากขยะเหล่านี้มีมูลค่าสูง ทำให้เกิดการล็อบบี้ขึ้น แนวทางของอนุสัญญาบาเซล คือให้มียกเว้นในการบังคับใช้ หากรัฐบาล 2 ประเทศ และหน่วยงานกำกับอนุมัติก็จะนำขยะอิเล็กทรอกนิกส์ ขยะของเสียอันตรายที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาฯ นำเข้ามาได้กำจัดในประเทศปลายทางได้  เช่น จีน อนุมัติให้ส่งขยะพิษจากจีนเข้ามาแปรรูปในไทย  

เป็นคำถามที่เราอยากถามรัฐบาล อยากถามกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าการส่งเสริมโดยไม่มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด ประเทศไทยได้อะไร ส่วนตัวถือว่าได้น้อยมาก ถ้าแลกกับทรัพยากรดินที่มีคุณค่าต่อการผลิตอาหาร ถ้าสูญเสียไปสิ่งเหล่านี้เรียกกลับคืนมาไม่ได้ และไม่คุ้มกับสุขภาพประชาชน

แผนที่เสี่ยงลักลอบทิ้งขยะพิษในไทย

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าเส้นทางการนำเข้าของเสียอันตราย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปกติจะเข้าทางท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี จากท่าเรือ ผ่านด่านศุลกากร ส่งสินค้าใส่รถบรรทุก เข้ามาพื้นที่โรงงานที่มักจะตั้งในแถบจังหวัดภาคตะวันออก ทั้งระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เช่นโรงงานจีน รายล่าสุดที่ถูกตรวจสอบ แม้ว่าจะตั้งโรงงานเถื่อน และสำแดงของนำเข้าเป็นเท็จ แต่เป็นผลของกฎหมายโดยตรง และเรื่องนี้อาจจะมีการทุจริต และแบ่งผลประโยชน์ในกุล่มข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างให้ทุนจีนมาลงทุนและความเสียหายระยะยาวกับสิ่งแวดล้อมของไทย

เพ็ญโฉม บอกว่า หนึ่งในบ่งชี้คือ โรงงานประกอบกิจการของโรงงานที่รับบำบัด กำจัด และรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม โรงงานที่ให้บริการจัดการกากอุตสาหกรรมประกอบด้วยโรงงานที่ขึ้นทะเบียนเป็นโรงงาน ลำดับประเภท 101 105 และ 106 ในปี 2559 ประเทศไทยมีโรงงานรับบำบัดและกำจัดของเสีย จำนวน 1,962 แห่ง เป็นโรงงานประเภท 101 จำนวน 143 แห่ง โรงงานประเภท 105 จำนวน 1,276 แห่ง และโรงงานประเภทที่ 106 จำนวน 543 แห่ง ซึ่งแม้จะเป็นปัจจัยให้สถิติการพบลักลอบทิ้งขยะพิษลดลงตามมาในช่วง 1-2 ปี แต่สวนทางกับปริมาณขยะอันตรายที่ถูกนำเข้ามา

ขณะที่ภาพรวมจากกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2559 ระบุว่า ประเทศไทยมีโรงงานทั้งสิ้น
138,083 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยโรงงานจำพวกที่ 3 ที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4)
ทั่วประเทศ  77,738 แห่ง

 

ภาพ : มูลนิธิบูรณะนิเวศ

ภาพ : มูลนิธิบูรณะนิเวศ

ภาพ : มูลนิธิบูรณะนิเวศ

 

สอดคล้องกับข้อมูลของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พบว่าขยะอิเล้กทรอนิกส์ทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ละปีมากถึง 20-50 ล้านตัน และในจำนวนนี้อยู่ในแถบประเทศเอเชียราว 12 ล้านตันต่อไป สาเหตุที่ขยะไฮเทคเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ อุปกรณ์เครื่องเสียง รวมถึงพรินเตอร์ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนามีการประเมินว่าการผลิตขยะอิเล้กทรอนิกส์อาจเพิ่มสูงอีก 3 เท่าภายใน 5 ปีข้างหน้า

ขณะที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้สรุปแผนที่ลักลอบทิ้งของเสียในช่วงเดือนพ.ค.-ส.ค.2558 โดยพบมี 14 ครั้งใน 11  จังหวัด คือ สมุทรสาคร ชลบุรี ระนอง นครศรีธรรมราช จันทบุรี ตรัง สุโขทัย ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปทุมธานี และขอนแก่น โดยส่วนใหญ่เป็นการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในชุมชน แอบลักลอบเผาขยะอุตสาหกรรมในกองขยะชุมชน และการทิ้งน้ำเสียอันตราย

 

 อ่านข่าวเพิ่มเติม

ผวามะเร็ง ! ควันพิษเตาหลอมตะกั่ว โรงงานกำจัดขยะเถื่อน

จ่อฟ้องแพ่ง "ค่าเสียหายสิ่งแวดล้อม" ขยะจีนซุกไทย 1 แสนตัน

5 ปี ขยะสารอันตรายพุ่ง 4 เท่า ทะลุ 16 ล้านตัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง