วันนี้ (31 พ.ค.2561) ข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า จำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกลดลงอย่างมากตั้งแต่ปี 2543 โดยเมื่อเทียบอัตราส่วนประชากร พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงร้อยละ 7 จากปี 2543-2559 โดยปัจจุบัน มีสถิติผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกประมาณ 1,100 ล้านคน แต่ยังคงมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มากถึงปีละไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้ ประมาณ 890,000 คน เสียชีวิตจากการสูดดมควันบุหรี่มือสอง
อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 3 ล้านคน เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผู้คนจำนวนมากไม่ทราบว่านอกเหนือจากโรคมะเร็งและโรคระบบทางเดินหายใจ บุหรี่ยังสร้างผลกระทบต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจด้วย
โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 17 จากจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งหมด 18 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี เนื่องจากควันบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด รวมถึงสารที่จะส่งผลให้หลอดเลือดตีบ ทำลายหลอดเลือด ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
นอกจากนี้ ยังมีก๊าซพิษอย่างคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งจะเข้าไปจับตัวกับเม็ดเลือดแทนที่ออกซิเจน ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ลดลงอีกด้วย