วันนี้ (13 มิ.ย.2561) ไทยพีบีเอส แกะรอยเส้นทางการเงิน นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คดีทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง หลังจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.ยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้ดำเนินคดีอาญากับอดีตผู้บริหาร พม.ข้อหาร่วมกันฟอกเงินกับผู้กระทำความผิด หลังพบพฤติการณ์ นายพุฒิพัฒน์และพวกมีการโยกย้ายเงินที่ได้จากการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง ไปแปลงเป็นทรัพย์สินอื่นๆ มูลค่าประมาณ 88 ล้านบาท
ทรัพย์สินทั้งหมดที่ ปปง.อายัดไว้ มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับคดีทุจริต ปี 2559 -2560 และยังมีผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ที่อาจเข้าข่ายร่วมกันฟอกเงินอีก 12 คน เป็นอดีตข้าราชการกระทรวงพม.และเครือญาติคนสนิท ของอดีตปลัดรองปลัด ผู้ตรวจราชการ
ปปง.ยังพบว่า มีการทอนเงินกลับมายังอดีตผู้บริหาร พม.มากถึง 80 ล้านบาท และเป็นการหิ้วเงินสดมาให้เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ
ขณะที่ผู้บังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ยอมรับว่า คดีนี้มีความซับซ้อน ดังนั้นวันที่ 19 มิ.ย.นี้ จะนัดหารือกับผู้เกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมด โดยจะตั้งคณะทำงานร่วมกันกับปปง.และ ป.ป.ท. ก่อนสรุปรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อลงพื้นที่ติดตามตัวผู้ต้องหาและทรัพย์สิน คาดจะสามารถดำเนินคดีได้อย่างรวดเร็ว
จากการตรวจสอบการทอนเงิน ปปง. ย้ำว่า เส้นทางการทอนเงินกลับ ถึงเพียงเแค่อดีตอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งเป็นตำแหน่งเดิมของนายพุฒิพัฒน์ในห้วงเวลาที่เกิดการร้องเรียนทุจริต ซึ่งยังไม่พบเส้นทางการเงิน เชื่อมโยงไปถึงอดีตรัฐมนตรีกระทรวง พม.คนก่อนหน้านี้
กล่าวได้ว่า คนทุจริตจะต้องยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไม่ให้อยู่ที่ตัวเอง เพื่อเลี่ยงการตรวจสอบ วิธีการแบบนี้เรียกว่า การฟอกเงิน ทำเงินให้ที่ได้มาผิดกลายเป็นถูก กรณีอดีตผู้บริหารกระทรวง พม. 3 ท่านนี้ ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตเงินช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งก็เช่นกัน แต่ละท่านถูกกล่าวว่าฟอกเงินรวมกัน ประมาณ 88 ล้าน ถ่ายเทกันไปที่ไหนบ้าง
ไทยพีบีเอสแกะรอย ดังนี้คนแรกนายพุฒิพัฒน์ เชาวสิทธิ์ อดีตปลัดกระทรวง พม. คือข้าราชการระดับ 11 สูงสุดในชีวิตราชการแล้ว แต่ที่ถูกกล่าวหาทุจริตเกิดขึ้นในสมัยที่เป็นอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ผลประโยชน์มาได้ตอนที่ขึ้นเป็นอธิบดีแล้ว เมื่อได้มาแล้วเอาไปทำอะไรบ้าง
เส้นทางแรกโอนให้พ่อ พ่อเอาไปซื้อที่ดินราคาประเมิน 1 ล้าน เส้นทางทางที่ 2 โอนให้หญิงคนสนิท เป็นอดีตข้าราชการกระทรวง พม.ลาออกเมื่อปี 59 หญิงคนสนิทของอดีตปลัด เอาซื้อรถหรูปอร์เช่ 3 คัน เบนซ์ 1 คัน และมินิอีก 1 คัน และอีกก้อนหนึ่งเอาไปซื้อคอนโดย่านรัชดา ซื้่อทีเดียว 5 ห้อง ราคาประเมิน 23 ล้านบาท
สรุปรถ 5 คัน คอนโด 5 ห้อง ที่ดินที่พ่อซื้อทั้งหมดนี้ดำเนินการซื้อทีเดียวในรอบ 1 ปี คือ 59-60 สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ถูกตรวจพบการทุจริต
คนที่ 2 ณรงค์ คงคำ อดีตรองปลัด พม.คนๆ นี้ก็เติบโตมาจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นรองอธิบดีในยุคของพุฒิพัฒน์ รู้ไส้รู้พุงกันดี อดีตรองปลัด โอนงิน ให้ภรรยา ภรรยาเอาไปซื้อที่ดินราคาประเมิน 5 ล้าน ไปพบอยู่ในบัญชีอีก 1 แสน ซื้อรถอีก 1 คัน ทำธุรกรรมในช่วงปี 59-60 เช่นกัน
คนสุดท้าย นายธีรพงษ์ ศรีสุคนธ์ อดีต ผู้ตรวจราชการ กระทรวง พม.ก็เติบโตมาจากรองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เช่นกัน อธิบดีและรองอธิบดีอีก 2 ท่านก็รู้กันหมด นี่คือเหตุผลว่า ทำไมการทุจริตนี้จึงทำแบบไม่เกรงกลัวและปกปิดไว้ได้ เพราะเมื่อขยับตำแหน่งเป็น ผู้ตรวจ แต่ผู้ตรวจรู้เห็นด้วย กระบวนการตรวจสอบจึงไม่ทำงาน อดีตผู้ตรวจธีรพงษ์ โอนให้ภรรยา ไปซื้อที่ดิน ราคาประเมิน 18 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปปง.อธิบายว่า เขาไม่เปิดบัญชีแต่หิ้วเงินสดสดกลับมา เงินที่ควรจะถึงคนไร้ที่พึ่งไว้เลี้ยงปากท้องไม่กี่บาท แต่ อดีต ผู้บริหาร พม. เอาซื้อรถหรู ซื้อที่ดิน ซื้อคอนโดฯทั้ง 3 ท่านมีเวลา 30 วันนำหลักฐานมาหักล้างว่าทรัพย์เหล่านี้ไม่ได้ได้มาจากการทุจริตตอนนี้ถูกอายัดไว้ก่อน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ยื่น "ปปป." ฟ้องอดีตปลัดพม.และพวก คดีฟอกเงิน 88 ล้าน