ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"รื้อฝาย" 2 จุดกั้นน้ำเข้าถ้ำหลวง -จ่ายชดเชยเกษตรกร พท.รับน้ำ

สังคม
11 ก.ค. 61
17:07
4,020
Logo Thai PBS
"รื้อฝาย" 2 จุดกั้นน้ำเข้าถ้ำหลวง -จ่ายชดเชยเกษตรกร พท.รับน้ำ
หยุดสูบน้ำออกจากถ้ำหลวง - รื้อฝาย 2 จุดบนดอยผาหมี เปิดทางน้ำไหลเข้าถ้ำคืนระบบนิเวศ พร้อมเร่งชดเชยเกษตรกร 126 คนที่ใช้เป็นพื้นรับน้ำ 1.4 ล้านบาทภายใน 2 สัปดาห์ รวมทั้งศึกษาแผนบริการจัดการน้ำเชิงพื้นที่แก้ปัญหาระยะยาว

วันนี้ (11 ก.ค.2561) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงมาตรการการระบายน้ำถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่า ซึ่งจากข้อมูลพบว่าช่วงวันที่ 20-21 มิ.ย. ก่อนที่เด็กๆ เข้าถ้ำหลวงวันที่ 23 มิ.ย.นี้มีฝนตกมากทำให้ปริมาณน้ำในถ้ำเพิ่ม ต่อมาวันที่ 25-27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็มีฝนตกมากกว่า 100 มิลลิเมตร ทำให้การบริหารจัดการน้ำในถ้ำทำได้ยาก เพราะเกิดความไม่ต่อเนื่องของแอ่ง และน้ำไหลไม่สะดวก แต่จากการประมินการทำงานร่วมกัน จึงทำให้ต้องหาวิธีตัดยอดน้ำออกถ้ำหลวง

การลดระดับน้ำในถ้ำมี 2 วิธี คือ สูบออกจากปากถ้ำ แต่วิธีนี้ใช้ไม่ได้ต่อเนื่องทำให้ต้องมีการสูบน้ำบาดาล เพิ่มเพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าถ้ำ ประกอบพบว่ามีน้ำที่บริเวณถ้ำทรายทอง จึงต้องใช้วิธีติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ จากภาคเอกชน เข้ามาช่วยลดปริมาณน้ำในถ้ำทรายทอง รวมทั้งการทำฝาย 2 จุดที่ด้านบน และท้ายถ้ำหลวง ที่สามารถดักน้ำไม่ให้เข้าถ้ำหลวงได้มีปริมาณ 32,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันมากกว่าปริมาณน้ำที่สูบออก

วันนี้ได้ยกเลิกทุกจุดที่มีการสูบน้ำทั้งหมดแล้ว ทั้งน้ำบาดาล การสูบน้ำออกจากถ้ำ และการรื้อฝายกั้นน้ำทั้ง 2 จุดที่ทั้งที่ดอยผาหมี และดอยผาฮี้แล้ว เพื่อให้ปริมาณน้ำในถ้ำกลับสู่สภาวะปกติ ภาพรวมน้ำที่ถูกออกมาจากถ้ำ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนน้ำที่เข้าถ้ำก็วัดปริมาณไม่ได้ 

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรรวม 4 ตำบล ในเขตอำเภอแม่สาย พื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ขณะนี้เตรียมขอวงเงินชดเชย 1.4 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรกว่า 126 คนที่ใช้พื้นที่แปลงนาเป็นพื้นที่รับน้ำ คาดว่าจะจ่ายเงินชดเชยได้ภายใน 2 สัปดาห์

นอกจากนี้ในระยะยาว คณะกรรมการลุ่มน้ำ เสนอวางมาตรการแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาว ทั้งในเขตและนอกเขตพื้นที่ โดยจะนำเอาน้ำซึม น้ำซับไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตร  โดยให้กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ทำแผนน้ำแบบจัดการเชิงพื้นที่ต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง