วันนี้(15 ก.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการใช้เงินกองทุนแอลพีจี ตรึงราคาก๊าซหุงต้มครัวเรือน ถัง 15 กิโลกรัม ที่ราคาไม่เกิน 363 บาท เป็นเวลาเกือบ 2 เดือน ทำให้ฐานะเงินกอง ฐานะเงินกองทุนแอลพีจี เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ติดลบแล้วกว่า 120 ล้านบาท หลังนำเงินไปอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม ตั้งแต่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ตามนโยบายกระทรวงพลังงานเพื่อให้ราคาก๊าซหุงต้มขนาดถัง 15 กิโลกรัม จำหน่ายได้ในราคาไม่เกิน 363 บาทต่ำกว่าราคาตลาดโลก ซึ่งอัตราอุดหนุนปัจจุบันอยู่ที่ กิโลกรัมละ 6 บาท 23 สตางค์ หรือวันละ 17 ล้านบาท เงินที่นำไปอุดหนุนขณะนี้เป็นการโยกมาจากกองทุนน้ำมันมาใช้ชั่วคราว
ซึ่งกองทุน แอลพีจี จะทยอยเก็บเงินแล้วชำระคืนภายหลัง เบื้องต้นกำหนดไว้ว่าจะยืมได้ไม่เกิน 3,000 ล้านบาท จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขณะนี้มีเงินอยู่ 29,900 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ศึกษามาตรการอื่นๆ ที่จะดูแลเสถียรภาพราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน
ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน มองว่า การตรึงราคาก๊าซหุงต้มโดยดึงเงินกองทุนนำมันมาใช้ ไม่ใช่เรื่องผิด หากทำเพียงชั่วคราว แม้เดิมรัฐตั้งใจใช้เงินกองทุน กับเรื่องที่จำเป็นจริงๆ และเปิดเสรีก๊าซหุงต้ม แต่ราคาพลังงานกลับแพงขึ้นเร็ว ก็ต้องหาวิธีไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ
ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ระบุด้วยว่า ราคาก๊าซหุงต้มในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมันในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า แต่อาจผันผวนรุนแรงในช่วงก่อนเดือนพฤศจิกายน กำหนดเส้นตายที่พันธมิตรของสหรัฐฯ จะยกเลิกการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน และส่งผลต่อ แอลพีจี ด้วย