วันนี้ (19 ก.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีกลุ่มวิชาชีพครูออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องขอยุติการชำระหนี้เงินกู้ ช.พ.ค.ตั้งแต่ 1 ส.ค.นี้ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ศ.สมพงษ์ จิตระดับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า เพราะจำนวนครูมีมากกว่า 800,000-900,000 คนทั่วประเทศ และเป็นวิชาชีพที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำทางสังคม โดยเฉพาะในต่างจังหวัด นักวิชาการด้านการศึกษาบางคน มองการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ว่าเป็นอีกครั้งที่เรื่องของครูถูกนำมาใช้เคลื่อนไหวโดยมีนัยยะทางการเมือง และถ้ามองเรื่องหนี้ของครูก็ดูจะมีคนได้ประโยชน์แทบจะทุกฝ่าย
ปัจจัยที่ทำให้ครูเป็นหนี้ง่ายและสะสางยากต้องย้อนกลับไปตั้งแต่นโยบายในอดีต ตั้งแต่การปรับขึ้นเงินเดือนครูทั่วประเทศ เมื่อปี 2553 การปรับเกณฑ์พิจารณาวิทยฐานะ การรวมหนี้ครูทั้งในและนอกระบบให้สถาบันการเงิน รวมทั้งนโยบายพักชำระหนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่นโยบายเหล่านี้ดำเนินการไปพร้อมกับความหละหลวมในการปล่อยให้ครูเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย
โดยเฉพาะสหกรณ์วิชาชีพครูซึ่งกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ แล้วนำมาปล่อยกู้กับครูต่อในอัตราที่สูงขึ้น ได้กำไรส่วนต่างดอกเบี้ย และอาศัยประโยชน์จากพระราชบัญญัติสหกรณ์ฯ กำหนดให้สหกรณ์ฯ เป็นเจ้าหนี้รายแรกที่จะได้รับเงินจากการนำส่งเงินเดือน ซึ่งในปัจจุบันสหกรณ์วิชาชีพครูไม่น้อยกว่า 80 แห่งทั่วประเทศ มีวงเงินกู้ยืมรวมกันกว่า 760,000 ล้านบาท
แต่สิ่งที่น่าสนใจจากปัญหาหนี้ครูที่ไม่สามารถสะสางได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ สถาบันการเงินก็ได้รับประโยชน์จากผลตอบแทนดอกเบี้ยที่ครูผ่อนชำระให้ทุกๆ เดือน แถมยังถูกกำหนดเงื่อนไขให้ต้องทำประกันชีวิต ซึ่งต้องต่อกรมธรรม์ทุกๆ 9 ปี จนครบสัญญาเงินกู้ 30 ปี ไม่เว้นแม้กระทั่งปล่อยกู้ให้กับครูในวัยใกล้เกษียณ
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์สมพงษ์ เสนอทางออกของปัญหาว่าควรแยกลูกหนี้ครูที่มีปัญหาขั้นวิกฤตเข้าเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และปลอดเงื่อนไขประกัน โดยทุกฝ่ายควรมีจิตสำนึก เพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้สินครูยั่งยืน