ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : พิพาทท่าเรืออ่าวกุ้งเบย์มารีน่า

20 ก.ค. 61
15:50
1,370
Logo Thai PBS
เปิดปม : พิพาทท่าเรืออ่าวกุ้งเบย์มารีน่า
พื้นที่ด้านหน้าติดทะเลเป็นแนวยาวประมาณ 25 เมตร คือจุดเริ่มต้นของข้อพิพาท ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนในพื้นที่ ต.ป่าคลอกกับเจ้าของโครงการท่าเทียบเรือสำราญและการกีฬาอ่าวกุ้งเบย์มารีน่า ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านอ่าวกุ้ง หมู่ 9 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

เจ้าของท่าเรือโต้ไม่ได้จงใจทำให้ป่าเสื่อมโทรมจนกลายเป็นป่าแหว่ง

ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนโดยรอบ ทางเข้าโครงการท่าเทียบเรือสำราญและการกีฬาอ่าวกุ้งเบย์มารีน่ากลับเป็นช่องว่างพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ กลุ่มอนุรักษ์บ้านอ่าวกุ้งเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า “ป่าแหว่ง”

พื้นที่ป่าแหว่งเคยถูกเคยยึดคืนภายใต้โครงการทวงคืนผืนป่าของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เพราะทาง ทช.ถือว่าป่าบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของป่าชายเลนคลองพารา พื้นที่ 2,343 ไร่ และเป็นป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2530 และ ปี 2543 พื้นที่รวม 2,567 ไร่

ในปี 2545 ชาวบ้านบ้านอ่าวกุ้งยังได้รับธงพระราชทานให้ดูแลป่าชายเลนแปลงนี้ร่วมกัน จนทำให้ป่าชายเลนในแถบนี้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญของเกาะภูเก็ตฝั่งตะวันออก

นายประดิษฐ์ พวงเกษ สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์บ้านอ่าวกุ้งให้ข้อมูลว่า ทุกครั้งที่มีการฟื้นฟูป่าชายเลนบริเวณนี้โดยกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ มักพบว่าต้นไม้ที่ปลูกไว้ไม่เติบโตไปมากกว่าเดิมหรืออาจถูกทำลายลง เช่นเดียวกลับนายตะเหลบ วงศ์กล้า สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์บ้านอ่าวกุ้งที่ตั้งข้อสังเกตว่าป่าที่พวกเขาฟื้นฟูอาจถูกวางยาเบื่อ ทำให้ต้นไม้เหล่านั้นเสื่อมโทรมและตายลง

ด้านนายประพจน์ แซ่หลิม ผู้จัดการโครงการท่าเทียบเรือสำราญและการกีฬาอ่าวกุ้งเบย์มารีน่าปฏิเสธข้อกล่าวหาจากกลุ่มอนุรักษ์บ้านอ่าวกุ้ง เขาบอกว่าพื้นที่โล่งหน้าทางเข้าโครงการนั้นเป็นท่าเรือเก่าและยังมีชาวบ้านบางคนเข้ามาใช้ประโยชน์จากท่าเรือนี้อยู่ทุกวัน ทำให้พื้นที่ทางเข้ากลายเป็นทางเข้าออก นายประพจน์ยังแสดงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3) ของครอบครัวนายประพจน์ ซึ่งระบุว่าที่ดินบริเวณทางเข้าโครงการที่เป็นป่าแหว่งไม่ได้เป็นแขตแนวป่าชายเลนแต่เป็นเขตชายทะเล

นส.3 ฉบับดังกล่าวออกมาเมื่อปี 2520 ก่อนมีการประกาศเขตป่าชายเลนคลองพารา และพื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2530 และ ปี 2543 นั่นหมายความว่าทางโครงการไม่ได้รุกล้ำพื้นที่ป่าชายเลนแต่อย่างใด

 

เช่นเดียวกับนายเฉด พันธ์ทิพย์ อดีตผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านอ่าวกุ้ง หมู่ 9 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าพื้นที่ก่อสร้างอ่าวกุ้งเบย์มารีน่าเคยเป็นนาข้าวมาก่อน และพื้นที่ป่าแหว่งที่เห็นคือท่าเล หรือท่าเรือติดชายทะเลที่ชาวบ้านใช้ขนย้ายสินค้าต่างๆ เมื่อต้องการเข้ามาเทียบท่าที่บ้านอ่าวกุ้ง ต่อมาภายหลังพบว่าท่าเลหมดความสำคัญลงเพราะเกิดท่าคลอง หรือท่าเรือบริเวณคลองอ่าวกุ้ง ขณะที่นายตะเหลบ วงศ์กล้า สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์บ้านอ่าวกุ้ง ซึ่งมีอายุประมาณ 64 ปี ให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกัน เขายืนยันว่าตรงบริเวณป่าแหว่งไม่เคยมีท่าเรือแต่อย่างใด

กรมเจ้าท่ายืนยันพื้นที่โครงการเหมาะสม โฉนดที่ดินไม่ทับซ้อนพื้นที่ป่า

ในปี 2559 ในปี 2559 รัฐบาลจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นมารีน่าฮับ หรือศูนย์กลางธุรกิจท่าเทียบเรือสำราญของอาเซียน โดยมีกรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานหลักที่ผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้น

กรมเจ้าท่าได้ศึกษาพื้นที่ศักยภาพพบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ที่เหมาะสมทั้งหมด 8 แห่ง กระจายอยู่ใน จ.ตราด ชลบุรี สุราษฏร์ธานี พังงา และภูเก็ต

ท่าเรือสำราญและการกีฬาอ่าวกุ้งเบย์มารีน่ามีพื้นที่ทั้งหมด 108 ไร่ ตั้งอยู่ในที่ลมสงบเหมาะกับการพักเรือ ทั้งนี้ ก่อนจะอนุมัติให้ท่าเรือสำราญและอ่าวกุ้งเบย์มารีน่าเป็น 1 ใน 8 แห่งมารีน่าฮับของไทยนั้น นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมการเจ้าท่าเปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าได้ตรวจสอบเอกสารที่ดินและลงพื้นที่ตรวจระวางพื้นที่ทั้งหมดก่อนอนุญาตให้มีการสร้างท่าเรือในพื้นที่บ้านอ่าวกุ้งได้ และยืนยันว่าพื้นที่โครงการท่าเรือสำราญและการกีฬาอ่าวกุ้งเบย์มารีน่าไม่ได้มีเนื้อที่ทับซ้อนกับแนวป่าสงวนหรือแนวป่าชายเลน

อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ป่าแหว่งที่ทาง ทช. กำลังตรวจสอบเอกสารสิทธิทางที่ดินของโครงการอยู่นั่น ทางกรมเจ้าท่าจะเข้าร่วมหารือเรื่องนี้ด้วย เพื่อหาข้อสรุปกับข้อเท็จจริงของแต่ละฝ่าย

ในปี 2560 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจรายงานว่า หากประเทศไทยสามารถขึ้นมาเป็นมารีน่าของอาเซียน จะส่งผลให้ไทยเป็นแคริบเบียนแห่งที่ 2 และได้รับเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬาระบุว่า การท่องเที่ยวแบบเรือยอชต์ มีการใช้จ่ายสูงกว่าการท่องเที่ยวในรูปแบบอื่นๆ โดยเฉลี่ยซูเปอร์ ยอชต์ จะมีการใช้จ่ายสูงถึง 1-2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ราว 35.45-70.9 ล้านบาท ต่อหนึ่งฤดูกาลในประเทศที่จอดเทียบท่า

ทช.กังวลการขุดร่องน้ำเดินเรืออาจกระทบต่อปะการังและป่าชายเลน

จากแนวปะการังจำนวน 547 ไร่ ในบริเวณ 5 เกาะที่อ่าวกุ้ง หนึ่งใน 58 เกาะ คือ เกาะเฮ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดก่อสร้างโครงการประมาณ 2 กิโลเมตร ข้อมูลจาก ทช.สำรวจพบทุ่งปะการัง พื้นที่รอบเกาะเฮทั้งหมด 62 ไร่ เมื่อน้ำทะเลเริ่มลดลง ปะการังชนิดต่างๆ เช่น ปะการังเขากวาง ปะการังดอกไม้ ปะการังโขด จะปรากฎให้เห็น

 

เพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ที่ปะการังเหล่านี้ปรากฎตัวขึ้น ชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่บริเวณนี้ เห็นภาพนี้เป็นประจำ นายออส สมทิพย์ ชาวบ้านหมู่ 9 บ้านอ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต และสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์บ้านอ่าวกุ้ง เป็นผู้ถ่ายภาพทุ่งปะการังเขากวางหาดเกาะเฮลงสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อกระตุ้นถามถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าคิดถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาหรือไม่

นายออสบอกว่าเขาเข้าร่วมการประชุมรับฟังความเห็นที่ทางโครงการจัดขึ้นทั้งสองครั้ง เพื่อรวบรวมความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทำอีไอเอ ทั้งสองครั้งทางโครงการมักอ้างว่าบริเวณรอบๆ ไม่มีปะการัง นายออสจึงถ่ายรูปปะการังเกาะเฮลงเฟสบุ๊กเพื่อยืนยันว่าพื้นที่อ่าวกุ้งมีแนวปะการังที่กำลังฟิ้นตัวได้ดีกระจายอยู่ทั่วบริเวณ

ก่อนหน้านี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน สำรวจปะการังบริเวณอ่าวกุ้ง พบว่าอยู่ในสถานภาพเสื่อมโทรมมาก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวในปี 2553 และการเพิ่มขึ้นของตะกอนดิน แต่จากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อต้นปี 2561 ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน พบว่า แนวปะการังบริเวณอ่าวกุ้ง ที่อยู่ในสถานภาพเสียหายมาก กลับฟื้นตัวมาอยู่ในสถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง

ระยะห่าง 1 กิโลเมตร จากโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญและการกีฬาอ่าวกุ้งเบย์มารีน่า ยังเป็นที่อยู่ของกัลปังหาสีแดง พื้นที่รวม 12 ไร่ คือบริเวณท้ายเกาะเฮ และแนวชายฝั่งระหว่างเกาะเฮ และเกาะภูเก็ต

ทางโครงการท่าเทียบเรือสำราญและการกีฬาอ่าวกุ้งเบย์มารีน่าเปิดเผยว่า เส้นทางเดินเรือจะใช้ร่องน้ำที่อยู่ระหว่างเกาะเฮกับเกาะภูเก็ต นั่นหมายถึงเรือทั้งหมดอาจต้องสัญจรผ่านแนวกัลปังหาสีแดงจำนวน 5 ไร่ ที่อยู่ระหว่างทั้งสองเกาะ

ความกังวลของนักอนุรักษ์บ้านอ่าวกุ้งบางคนคือ เมื่อทางโครงการท่าเรืออ่าวกุ้งเบย์มารีน่าขุดลอกร่องน้ำเดินเรือ ปะการังเหล่านี้ อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากตะกอนดิน ข้อกังวลนี้ สอดคล้องกับความเห็นของ ทช. ที่ได้ช่วย สผ.วิเคราะห์อีไอเอของโครงการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

นางสาวนลินี ทองแถม นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอัน ให้ข้อมูลว่า อีไอเอที่ส่งต่อมาจาก สผ.ไม่ได้ระบุแนวร่องน้ำเดินเรือ แต่กลับระบุว่าจะมีการขุดร่องน้ำเดินเรือ ที่ก่อให้เกิดตะกอนดินจำนวน 220,000 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นตะกอนดินจำนวนมาก หากตะกอนเหล่านี้หลุดรอดไปยังแนวปะการัง จะทำให้ปะการังที่กำลังฟื้นฟูสภาพตกอยู่ในสถานภาพเสื่อมโทรมอีกครั้งหนึ่ง

 

ด้านนายประพจน์ แซ่หลิม ผู้จัดการโครงการท่าเทียบเรือสำราญและการกีฬาอ่าวกุ้งเบย์มารีน่า กลับให้ข้อมูลว่าการขุดร่องน้ำเดินเรือของทางโครงการ จะก่อให้เกิดตะกอนเพียง 9 หมื่นตัน เท่านั้น และแนวการขุดร่องน้ำไม่ได้พาดผ่านแนวกัลปังหาและแนวปะการัง เขาบอกว่าร่องน้ำที่จะขุดขึ้นมีความยาว 1 กิโลเมตร และในอีไอเอระบุไว้ชัดเจนว่าทางโครงการจะขุดโดยมีที่ดักตะกอนดินร่วมด้วย ส่งผลให้ตะกอนดินเหล่านั้นไม่หลุดรอดไปยังทุ่งปะการังที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

สำหรับความลึกของร่องน้ำที่ทางโครงการขุดลอก มีความลึก 8 เมตรเฉพาะที่จอดเรือภายในโครงการเท่านั้น และค่อยลดระดับลง เมื่อเข้าสู่ทะเลจากทางปากเข้าโครงการ จนเหลือความลึกไม่ถึง 1 เมตรในทะเล เพราะเรือที่เข้ามาจอดในโครงการกินน้ำลึกไม่เกิน 2 เมตร และเข้าออกในช่วงเวลาน้ำขึ้นเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกับแนวกัลปังหาและปะการังอย่างที่หลายฝ่ายกังวล

ชมรายการเปิดปม ตอน พิพาทท่าเรืออ่าวกุ้งเบย์มารีน่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง