โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม หรือ พวอ. ได้จัดเวทีเสวนาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ "คนรุ่นใหม่กับงานวิจัย" เพื่อจุดประกายนักวิจัยรุ่นใหม่ผ่านประสบการณ์และมุมมองของ น.ส.เฌอปราง อารีย์กุล หรือ "เฌอปราง BNK48" นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
งานวิจัยกับมุมมองคนรุ่นใหม่
ส่วนตัวแล้วไม่เคยทราบว่ามีอาชีพนักวิจัยและไม่เคยทราบว่ามีการให้ทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว.ในระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอก ต้องบอกว่าไทยมีนักวิจัยเป็นส่วนน้อยจริงๆ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ ถ้าได้กระจายข้อมูลข่าวสารออกไปให้เยาวชนได้ทราบเกี่ยวกับอาชีพนักวิจัยนี้ดีก็คงเป็นเรื่องที่ดี
งานวิจัยในมุมมองคนทั่วไป
ถ้าในประเทศไทยบางคนอาจมองเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก เพราะอาจจะมองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะต้องมีหลายขั้นตอนและมีอุปกรณ์ต่างๆ มากมาย แต่จริงๆ งานวิจัยเราใช้อยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว และไม่ได้ยากอย่างที่คิด ไม่ได้ยากเกินความสามารถของเรา ค่อยๆ ศึกษาและเรียนรู้กับมัน และตอนนี้มีการพัฒนาการสื่อสารมากขึ้น อินเทอร์เน็ตที่สามารถหาข้อมูลได้ง่ายมากยิ่งขึ้น อย่างการใช้เครื่องสำอางของผู้หญิงอย่างเรา ทดลองใช้หลายยี่ห้อก็ถือเป็นการทำวิจัยอย่างหนึ่งเหมือนกัน
ส่วนตัวเคยไปประเทศญี่ปุ่น เขามองว่างานวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ คนที่จะเป็นนักวิจัยเขาจะรู้ตัวตั้งแต่ยังเด็ก เพราะเขารู้ว่าการมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองเป็นเรื่องที่ดี และแสดงถึงความก้าวหน้าของประเทศ หรือมีอำนาจบางอย่างในการต่อรองกับประเทศอื่นๆ เนื่องจากเรามีสิ่งที่เป็นของเราเอง
ตัวเฌอเองหวังว่าจะได้เป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์อาชีพนักวิจัยให้คนทั่วไปได้สนใจและตื่นตัวเพราะงานวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีของบ้านเราที่ก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 และให้ประเทศได้มีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง ถ้าเรามีผู้คนที่ทำในส่วนนี้ได้มากขึ้น เราก็จะมีนวัตกรรมมากขึ้น
"วิจัยขนาดย่อม" ในโรงเรียน แก้ปัญหาด้วยการลงมือทำ
เลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ เพราะต้องการเป็นนักวิจัย แต่เพิ่งมาตัดสินใจได้ช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอาชีพนี้ ตั้งแต่ประถมศึกษา มัธยมศึกษาไม่เคยรู้เลยว่าอะไรคืออาชีพนักวิจัย รู้เพียงว่าถ้าเรียนสายวิทยาศาสตร์จะได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นแพทย์ เป็นวิศวกร โปรแกรมเมอร์ ซึ่งช่วงนั้นได้มารู้จักงานวิจัยตอนที่โรงเรียนให้ทำโครงงาน ซึ่งเหมือนเป็นการทำวิจัยขนาดย่อม จึงเลือกทำโครงงานผลิตเอทานอลจากใบไม้ แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ แค่คาดว่าจะสามารถทำได้ อย่างน้อยถึงมันจะไม่สำเร็จ แต่ก็ได้เรียนรู้อะไรมากเหมือนกัน และสนุกกับการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ
นอกจากนี้ยังได้ทำโครงการบำบัดน้ำเสียในโรงเรียน แบ่งเป็นการเติมออกซิเจนในน้ำ เพื่อย่อยสลายสารอินทรีย์ เนื่องจากที่โรงเรียนมีการทำอาหาร แล้วใช้น้ำล้างอุปกรณ์เครื่องครัวต่างๆ ซึ่งจะมีไขมัน สารอินทรีย์อยู่ จึงไม่อยากปล่อยทิ้งไว้ โรงเรียนก็ได้เสนอให้เอาโครงการวิทยาศาสตร์มาแก้ไขปัญหาตรงนี้ โดยให้นักเรียนได้ลงมือทำ หลังจากนั้นก็ได้ทำโครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ได้เรียนรู้แบบเริ่มจากศูนย์ ใช้เวลาทำโครงงานนี้นานพอสมควรกว่าที่มันจะโตขึ้นมาให้เห็นก้อนเนื้อเยื่อที่สามารถโตเป็นต้นไม้ต่อไปได้ พอเห็นก็รู้สึกดีใจมาก รักเหมือนลูก
ประสบการณ์ตรงนั้นทำให้รู้สึกอยากทำอะไรแบบนี้ อยากนั่งทำวิจัย ตรวจสอบโจทย์อะไรบางอย่าง ยิ่งเป็นการแก้ไขปัญหาให้คนอื่นได้ก็ยิ่งดีมาก ถึงแม้ว่าจะเป็นโครงงานเล็กๆ แต่ก็ทำให้ได้รู้ถึงกระบวนการและขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ได้ด้วยตัวเอง และทำให้ตัดสินใจเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์
จริงๆ แล้วที่ตัดสินใจมาเรียนด้านวิทย์ได้ เพราะเฌอได้ลงมือทำค่ะ ได้ลองทำกับมันจริง ๆ ตรงนี้อาจจะมีน้องหลายคนได้เรียนวิทยาศาสตร์ผ่านการแล็กเชอร์อย่างเดียว ผ่านหนังสืออย่างเดียว ซึ่งมันไม่ได้สนุก แต่วิทยาศาสตร์มันจะสนุกก็ต่อเมื่อเราได้ลงมือทำมันจริงๆ เลยอยากให้ทุกคนได้ลองทำดู เฌอเองก็ไม่ใช่คนเรียนเก่ง แต่เราชดเชยด้วยการทำงาน
ชีวิตในวง BNK48 คือ การทำ "วิจัยไอดอล"
การทำงานในวงการบันเทิง เป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งมองว่าเป็นการทำวิจัยเหมือนกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่และสามารถนำไปต่อยอดได้ จึงหวังว่าทุกคนน่าจะให้ความสนใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะไม่ว่าอาชีพใดก็ได้สัมผัสกับวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น
ตัวเฌอเองที่ได้มาทำงานในวง BNK48 เพราะเฌอสงสัยว่าไอดอลของเฌอเขาผ่านอะไรมาบ้าง คิดว่านั่นคือการทำวิจัยอย่างหนึ่งในชีวิตเฌอ ที่ได้เอาชีวิตมาทดลองทำงานตรงนี้ เรียนรู้กับมัน คิด วิเคราะห์ เชื่อมโยงว่าอะไรทำให้ไอดอลเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้ ซึ่งเฌอสัมผัสได้ว่าเขามี passion ในสิ่งที่เขารัก ถ้าเราทำเต็มที่ไม่ว่าอาชีพอะไรก็สามารถสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองและคนอื่นได้ไม่มากก็น้อย
งานวิจัยจริงๆ แล้วไม่ได้จำกัดว่าอยู่แค่กับอาชีพวิจัย ไม่ว่าคุณจะเป็นแพทย์ วิศวกร หรืออาชีพอื่นๆ ก็สามารถที่จะพัฒนาสิ่งที่ทำอยู่และต่อยอดเป็นนวัตกรรมด้วยตัวเองคงเป็นเรื่องที่ดีมาก