วันนี้ (25 ก.ค.2561) นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เขื่อนในประเทศไทยมีความปลอดภัย มีความแข็งแรง และออกแบบไว้เผื่ออยู่แล้ว ซึ่งมีเขื่อนหลักที่เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 15 เขื่อน และเขื่อนขนาดกลาง 412 เขื่อน โดยจะมีมาตรการในการเฝ้าระวังความปลอดภัย และมีการตรวจตราเป็นประจำอยู่แล้ว ทุกระยะเวลา 1 เดือน และ 3 เดือน ส่วนเจ้าหน้าประจำเขื่อนจะคอยตรวจตราอยู่ทุกวันด้วย
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีความเป็นห่วงและมีการวางแผนงานเกี่ยวกับเรื่องการระบายน้ำและติดตามสถานการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด มีการพร่องน้ำตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝน
นายทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา พายุเซินติญไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เนื่องจากพายุได้เคลื่อนตัวออกไปทางจีน ขณะที่พายุอ๊อมปึลเคลื่อนตัวขึ้นไปทางเหนือ ซึ่งมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่น่าเป็นห่วง และน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งหมดในพื้นที่ภาคเหนือสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เตรียมพื้นที่ไว้รองรับปริมาณน้ำอยู่แล้ว ซึ่งในภาพรวมมีน้ำกักเก็บทั่วประเทศอยู่ที่ร้อยละ 62 หรือประมาณ 29,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ เขื่อนกักเก็บน้ำส่วนใหญ่จะเป็นเขื่อนดิน ซึ่งจะเป็นเขื่อนคอนกรีตอยู่ไม่กี่เขื่อน เช่น เขื่อนภูมิพล จ.ตาก, เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก นอกจากนั้นเป็นเขื่อนดินทั้งหมด ซึ่งจะเป็นแกนดินเหนียว มีการออกแบบและสร้างอย่างแข็งแรงอยู่แล้ว