เขื่อนดังกล่าว มีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทจากประเทศไทย ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศลาว
- บริษัท SK Engineering and Construction (SK E&C) จากเกาหลีใต้ 26 เปอร์เซนต์
- บริษัท Korea Western Power (KOWEPO) จากเกาหลีใต้ 26 เปอร์เซนต์
- บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) จากไทย 25 เปอร์เซนต์ หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท
- บริษัท Lao Holding State Enterprise (LHSE) ถือหุ้น 24 เปอร์เซนต์
มีธนาคาร 4 แห่งในประเทศไทย ร่วมลงทุนปล่อยเงินกู้ให้กับโครงการนี้ คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาติ ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก (EXIM) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา
เขื่อนที่แตกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนชาวลาว ในแขวงอัตตะปือ กว่าแสนคน มีผู้สูญหายหลายร้อยคน เสียชีวิตเบื้องต้นที่พบศพ 26 คน คนส่วนใหญ่ไร้ที่อยู่อาศัย ขาดอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค
หลังเกิดเหตุการณ์ นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเผย เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ว่า ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อประชาชน ครอบครัว และทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เขื่อนดินย่อยส่วน D ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ทรุดตัว โดยบริษัทได้มอบเงินสนับสนุนช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 1,300 ล้านกีบ หรือประมาณ 5 ล้านบาท แก่ทางการ สปป.ลาว ซึ่งในขณะนี้ ทางผู้บริหารระดับสูงของบริษัท พร้อมทีมงานได้เดินทางไป สปป.ลาว เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย
ขณะเดียวกัน ได้ประสานงานขอการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการให้ความช่วยเหลือเครื่องอุปโภคและบริโภค ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงการฟื้นฟูแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่อีกทางหนึ่ง โดยบริษัทยืนยันจะให้ความร่วมมือ สนับสนุน และช่วยเหลือทางการ สปป.ลาว อย่างเต็มที่ต่อไป
ขณะที่วันเดียวกัน มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ-เอกชน ต่างใช้ความพยายามเพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนชาวลาวที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งการตั้งศูนย์รับบริจาคสิ่งของ เงิน การเตรียมหน่วยกู้ภัยส่งเข้าไปช่วยเหลือ ฯลฯ
ขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้สั่งให้ตรวจสอบบริษัทเอกชนที่เข้าไปลงทุนในประเทศลาว ส่วนในประเทศไทย เครือข่ายภาคประชาสังคม เรียกร้องความรับผิดชอบต่อผู้ลงทุนไทยในต่างประเทศ ทั้งจากบริษัทที่เข้าไปลงทุน จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และธนาคารที่ให้กู้เงินเพื่อดำเนินโครงการ
เมื่อย้อนกลับไปดูความเป็นมาเป็นไปของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่พันธกิจองค์กร ความรับผิดชอบต่อสังคม ธรรมาภิบาล ฯลฯ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ก็พบว่า บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ก็ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ไม่น้อย และได้รับรางวัลมาแล้วหลายครั้ง
ในรายงานประจำปี 2556 บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ระบุ พันธกิจขององค์กรไว้ว่า
- สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้น โดยเน้นการสร้างผลตอบแทนทางการเงินสูงสุดอย่างต่อเนื่อง
- มุ่งเน้นการสร้างความเป็นเลิศในการดำเนินงานและการพัฒนาโครงการตามมาตรฐานสากล
- มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม
- สร้างบรรยากาศการทำงานที่น่าพึงพอใจและมั่นคง รวมทั้งสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้แก้พนักงาน
- สนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย และปฏิบัติตามกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
วันที่ 20 มี.ค.57 นายคุรุจิต นาครทรรพ ประธานกรรมการบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ลงนามใน ระเบียบบริษัทฯ ว่าด้วย คณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม พ.ศ.2557
วันที่ 24 พ.ย.57 เว็บไซต์ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) รายงานว่า บริษัทฯ รับรางวัลรายงานความยั่งยืน หรือ Sustainability Report Award ประจำปี 2557 ประเภทรางวัลดีเด่น ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีนางบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นผู้แทนรับมอบ จากสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสถาบันไทยพัฒน์ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บริษัทดำเนินการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social, and Governance: ESG) ในรูปแบบของรายงานความยั่งยืน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ลงทุนในรูปแบบรายงานความยั่งยืน
โดยระบุว่า บริษัทฯ เป็น 1 ใน 16 บริษัท ที่ได้รับรางวัลประเภทดีเด่น ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นองค์กรที่มุ่งสู่การเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำ ที่เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างจริงจังเสมอมา
ทั้งนี้ ในรายงานความยั่งยืนของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้แสดงเนื้อหาถึงการดำเนินการจัดการควบคุมกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นผลและเป็นรูปธรรม โดยยึดหลัก “มิตรภาพระหว่างอุตสาหกรรมระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม” ในการดำเนินงาน การนำแนวคิดอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco-Industry) มุ่งมั่นให้เกิดการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงไฟฟ้าตามหลักการพัฒนาโดยไม่ทำลาย ตลอดจนการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม เช่น โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โครงการขยายผลพลังงานชุมชน เป็นต้น
วันที่ 2 เม.ย.58 นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ที่ 3 จากขวา) รับมอบประกาศนียบัตร ESG100 Company จาก ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ (ที่ 4 จากขวา) ในฐานะบริษัทจดทะเบียนหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
(Financial Times ได้บัญญัติความหมายของ ESG ว่า เป็นคำที่ใช้ในตลาดทุนโดยผู้ลงทุนเพื่อใช้ประเมินการดำเนินงานของบริษัท และทำให้ล่วงรู้ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการประกอบการดังกล่าวนี้ มาจากบทบาทของบริษัทที่มีต่อเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) เรื่องความยั่งยืน (Sustainability) หรือที่มักอ้างอิงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม)
วันที่ 9 พ.ย.59 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศรายชื่อ 55 บริษัท “หุ้นยั่งยืน” โดยมีเกณฑ์พิจารณาคัดเลือก จากการตอบแบบประเมิน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยมีการพิจารณาเพิ่มเติมเรื่องผลประกอบการ และการคัดกรองด้านการกำกับดูแลต่างๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน โดยมีคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม และหน่วยงานในตลาดทุนไทย เป็นผู้กลั่นกรองให้กระบวนการคัดเลือกมีความโปร่งใสในทุกขั้นตอน ซึ่ง บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกด้วย
วันที่ 16 ต.ค.60 บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ก็มีชื่ออีกครั้ง หลังตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศรายชื่อ 65 บริษัท หุ้นยั่งยืน โดยระบุว่า สะท้อนให้เห็นว่า บจ. ตระหนักและให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารภายใต้หลักบรรษัทภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนที่ดีในทางเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
หากมองสัดส่วน จากงบประมาณลงทุนของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมโครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ประมาณ 40,000 ล้านบาท เงินที่บริษัทฯ ส่งไปให้ความช่วยเหลือชาวลาว ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์เขื่อนแตก จำนวน 5 ล้านบาท เป็นเพียง 0.0125 เปอร์เซนต์ เท่านั้น
ขณะที่สังคมคาดหวังว่า บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) น่าจะแสดงความรับผิดชอบ ได้มากกว่านี้