วันนี้ (2 ส.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำที่ จ.นครพนม พบว่ายังมีน้ำท่วมหลายพื้นที่ โดยเฉพาะตามแนวลำน้ำก่ำที่รับน้ำมาจากหนองหาร จาก จ.สกลนคร เฉลี่ยวันละ 26 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 เพื่อระบายออกสู่แม่น้ำโขงที่ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิตใน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
ขณะที่สัตว์เลี้ยงหลายชนิดที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ต้องถูกต้อนให้ขึ้นอยู่ที่สูง และอยู่รวมกัน โดยปศุสัตว์กำชับให้เฝ้าระวังเรื่องโรคที่มากับน้ำ และจะมีผลต่อสัตว์ โดยได้แนะนำอาการเบื้องต้นให้เจ้าของสังเกตอาการ และให้รีบแจ้งปศุสัตว์ จ.นครพนม หากพบความผิดปกติ โดยชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ต่างให้ข้อมูลว่าน้ำเริ่มท่วม เมื่อ 4 วันก่อน แต่การแจ้งเตือนภัยมีทั้งคนรับทราบและไม่รับทราบข้อมูลจากผู้นำชุมชน
ภาพรวมขณะนี้ จ.นครพนม ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมแล้ว 8 อำเภอ รวม 56 ตำบล ได้แก่ อำเภอท่าอุเทน โพนสวรรค์ ธาตุพนม เรณูนคร ปลาปาก บ้านแพง นาแก และ อ.เมือง มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบอย่างน้อยกว่า 38,000 ไร่
ส่วนสถานการณ์น้ำที่แม่น้ำโขง ทางชลประทานนครพนม รายงานระดับน้ำ แม่น้ำโขง เวลา 07.00 น. ที่ผ่านมา พบว่ามีระดับน้ำ 12.24 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 76 เซนติเมตร เวลา 08.00 น. ที่ผ่านมา มีต่ำกว่าระดับตลิ่งแค่ 75 เซนติเมตร หรือเฉลี่ยน้ำโขงเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 1 เมตร
สำหรับสถานการณ์น้ำเพิ่มขึ้นเช่นนี้ ทำให้เมื่อวานนี้ ทางโครงการชลประทานนครพนมได้ทำหนังสือแจ้งถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอทั้ง อ.เมือง นาหว้า ศรีสงคราม และท่าอุเทน เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่เพิ่มเติม และขอให้แจ้งประชาชนขนย้ายสิ่งของ เครื่องใช้ รวมทั้งสัตว์เลี้ยงขึ้นที่สูง และติดตามข่าวสารใกล้ชิด
ส่วนสถานการณ์ที่ จ.สกลนคร ทีมท่อสูบน้ำซิ่งจากบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เริ่มเดินเครื่อง เมื่อเวลา 07.30 น. ที่ผ่านมา บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสีย ที่ต้องเป็นจุดดึงน้ำจากในตัวเมืองสกลนคร ระบายออกหนองหาร
ขณะที่เช้าวันนี้ นายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เดินทางมาติดตามการทำงานของทีมท่อสูบน้ำซิ่ง และการระบายน้ำ ซึ่งพบว่าระดับน้ำหนองหารลดลงจากเมื่อวานนี้ 7 เซนติเมตร และไม่มีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะฝนตกซ้ำ ทำให้ขณะนี้พื้นที่ในตัวเมืองสกลนครเบาใจได้ว่าจะไม่เกิดน้ำท่วม ขณะที่ภาพรวมได้ใช้เครื่องสูบน้ำ 25 ตัว ดูแลน้ำรอบเมือง พร่องลงหนองหาร เพื่อให้ออกสู่แม่น้ำโขง
สำหรับ จ.สกลนคร ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์รายงานว่าพื้นที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นจากเดิม 7 อำเภอ เป็น 16 อำเภอ จากทั้งหมด 18 อำเภอ พื้นที่น้ำท่วมหนักที่สุด คือ โพนนาแก้ว และมีเพียง 2 อำเภอ ที่ยังไม่ถูกน้ำท่วม ได้แก่ ภูพาน และวาริชภูมิ
ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ช่วงไหลผ่าน จ.หนองคาย ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด ที่จุดวัดระดับหน้าส่วนอุทกวิทยาหนองคาย อยู่ที่ 11.52 เมตร เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 30 เซนติเมตร ทำให้ขณะนี้ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งเพียง 68 เซนติเมตรเท่านั้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 เซนติเมตร
นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย มีหนังสือและวิทยุด่วนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์น้ำโขงอย่างใกล้ชิด และพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชน หากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ขณะเดียวกัน ได้แจ้งเตือนผู้ที่มีบ้านเรือนริมตลิ่ง ให้เก็บสิ่งของขึ้นที่สูง ส่วนการสัญจรทางเรือ ควรเพิ่มความระมัดระวัง
ส่วนที่ จ.บึงกาฬ น้ำโขงเอ่อล้นไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร นอกจากนี้ ลำน้ำสาขาได้เอ่อล้นท่วมถนนเข้าหมู่บ้านเทพมีชัย ต.หนองเดิ่น อ.บุ่งคล้า โดยระดับน้ำสูงกว่า 30 เซนติเมตร ขณะที่ล่าสุด จ.บึงกาฬ ประกาศให้ 2 อำเภอ คือ อ.เมือง และบุ่งคล้า เป็นประพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน เพื่อให้การช่วยเหลือ เป็นไปอย่างเร่งด่วน
ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายน้ำ ขณะนี้ น้ำโขงล้นตลิ่ง 53 เซนติเมตร ทำให้บ้านเรือนถูกน้ำท่วมกว่า 800 หลัง โดยพระครูโพธิเขตวรคุณ เจ้าคณะอำเภอโขงเจียม ได้เปิดจุดรับบริจาคสิ่งของและอาหาร เพื่อส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยจะทยอยลำเลียงสิ่งของไปแจกจ่าย วันที่ 4 สิงหาคมนี้