วันนี้ (6 ส.ค.2561) จากกรณีแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเวณนอกชายฝั่งทางตอนเหนือของเกาะลอมบอก ประเทศอินโดนีเซีย ขนาด 6.9 วานนี้ ผศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ลักษณะการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.9 นี้ เกิดจากการดันตัวขึ้นของแผ่นเปลือกโลก บริเวณแนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก Flores Thrust ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับแผ่นดินไหวที่อาจทำให้เกิดสึนามิ เช่นเดียวกับแผ่นดินไหวขนาด 6.4 เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากแผ่นดินไหวทั้งสองเกิดขึ้นบนบก ทำให้โอกาสการเกิดสึนามิค่อนข้างต่ำ
สำหรับแผ่นดินไหวครั้งนี้ มีความลึกประมาณ 30 กิโลเมตร ซึ่งตำแหน่งที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกันกับแผ่นดินไหวครั้งก่อน โดยทั้งสองเหตุการณ์เป็นแผ่นดินไหวตื้นและเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงกับอาคารบนเกาะลอมบอก ซึ่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวทั้งสองอยู่ทางตอนเหนือของเกาะ ห่างจากภูเขาไฟรินจารีประมาณ 15 กิโลเมตร และเมืองมาทารัมซึ่งเป็นเมืองหลักบนเกาะแห่งนี้ประมาณ 50 กิโลเมตร แต่ตำแหน่งของอาฟเตอร์ช็อกครั้งนี้มีขนาดใหญ่กว่า 4.5 มีตำแหน่งการเกิดอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะลอมบอก ซึ่งแตกต่างจากอาฟเตอร์ช็อกในสัปดาห์ก่อนที่ส่วนใหญ่มีตำแหน่งการเกิดบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ จึงมีความเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นคนละตำแหน่งกัน
แผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้อาคารที่เสียหายในครั้งก่อน และมีสภาพที่อ่อนแออยู่แล้วอาจจะเกิดความเสียหายได้มากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ เนื่องมาจากตำแหน่งและขนาดของแผ่นดินไหวที่ใหญ่ขึ้น รวมทั้งความเสียหายอาคารส่วนใหญ่เกิดจากอาคารที่สร้างไม่ถูกหลักวิศวกรรม ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 91 คน
ขณะที่ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหว สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ระบุว่า สำหรับการเกิดแผ่นดินไหวนั้นต้องใช้เวลาสะสมพลังงานถึง 100-1,000 ปี กว่าจะเกิดขึ้นได้ 1 ครั้ง แต่อินโดนีเซียมีรอยแตกร้าวในแผ่นเปลือกโลกจำนวนมาก จึงทำให้อาจเกิดแผ่นดินไหวบ่อย แต่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่สามารถพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหวได้ จึงทำได้เพียงสังเกตจากปรากฏการณ์ที่บ่งชี้ถึงการเกิดแผ่นดินไหวเท่านั้น อย่างปฏิกิริยาของสัตว์บางชนิด หรือการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็ก แต่ยังไม่มีข้อมูลสรุปที่ชัดเจนว่าจะเกิดแผ่นดินไหวจริง
สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้จึงเป็นการตั้งรับโดยเตรียมอาคารให้ทนทานต่อการเขย่าของแผ่นดินไหว เนื่องจากในอินโดนีเซีย มีการก่อสร้างบ้านเรือนที่โครงสร้างอ่อนแอ เสี่ยงต่อการถล่มอยู่แล้วเนื่องจากใช้อิฐประกอบเป็นบ้านต่อเติมด้วยปูนซีเมนต์ ไม่ได้สร้างโดยมีเสา คาน หรือคอนกรีตสำเร็จ จึงทำให้โครงสร้างอ่อนแอ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวจึงถล่มทับผู้คนจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง ยืนยันว่า การเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแน่นอน แต่ประเทศไทยเองก็มีการสะสมของพลังงานอยู่ตลอดเวลา แต่คงต้องใช้เวลาเป็น 1,000 ปี กว่าจะเกิดขึ้นได้