วันนี้ (22 ส.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเทศบาลเมืองเพชรบุรี ประกาศเตือนประชาชน 2 ฝั่งริมแม่น้ำเพชรบุรีในเขตเมือง เตรียมรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ในช่วงเที่ยงของวันนี้เป็นต้นไป จากการสำรวจโดยรอบของเมืองเพชรบุรี พบว่าประชาชน ผู้ประกอบการ และสถานศึกษาต่างเตรียมความพร้อมกันตั้งแต่ช่วงกลางคืนที่ผ่านมา เช่น วิทยาลัยเทคนิคเพชรบุรี ประกาศหยุดเรียนวันที่ 22-23 ส.ค.นี้ หลังเริ่มพบว่ามีน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ ซึ่งเป็นน้ำที่ผุดออกมาจากท่อระบายน้ำ ตั้งแต่เมื่อช่วงเวลา 22.00 น.วานนี้ (21 ส.ค.) ทำให้ครูอาจารย์และนักศึกษา ต้องช่วยกันนำกระสอบทรายมาปิดตามช่องระบายน้ำ
เช่นเดียวกับ ย่านเศรษฐกิจของตัวเมือง ซึ่งเป็นจุดที่ต่ำ แม้ชาวบ้านจะนำกระสอบทรายมาวางเรียง บริเวณฟันหรอ เพื่อป้องกันน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน แต่ก็พบว่ามีน้ำเล็ดลอดออกมา ซึ่งหลายคนก็เตรียมพร้อม เห็นได้จากแต่ละบ้านยังคงวางกระสอบทรายกั้นไว้บริเวณหน้าประตูบ้าน เพื่อป้องกันน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเป็นรอบที่ 2 ส่วนบางรายเพิ่งเอาออกไปเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ส่วนใหญ่ก็บอกว่า ยังต้องประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และรอลุ้นหลังช่วงเที่ยงนี้อีกครั้ง
ล่าสุด สถานการณ์น้ำเทศบาลเมืองเพชรบุรี ถึงขึ้นวิกฤติ เทศบาลเมืองเพชรบุรี ติดธงแดงแจ้งเตือนประชาชน เนื่องจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 8.00น. ระดับน้ำที่สะพานอุรุพงษ์สูงกว่าระดับน้ำเมื่อปี 2560 ส่งผลให้น้ำเริ่มเอ่อเข้าท่วมในบางพื้นที่ต่ำของชุมชนตลาดเก่า หลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่ลุ่มต่ำติดริมแม่น้ำเพชรบุรี
ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า สถานการณ์อุทกภัยในขณะนี้พื้นที่เขื่อนแก่งกระจานซึ่งนับว่าวิกฤตที่สุด โดยได้ประสานงานทางจังหวัดเพชรบุรีให้เร่งแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนกับประชาชนในพื้นที่โดยเร็วที่สุด
การบริหารจัดการน้ำต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จะเร่งแก้แค่บางจุดที่ท่วมไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้
ทั้งนี้ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้แจ้งเตือนประชาชนด้วยข้อมูลที่แท้จริง และมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลน้ำให้ประชาชนรับทราบได้อย่างทั่วถึง
สทนช.เร่งลดผลกระทบน้ำท่วมเมืองเพชรบุรี
ด้านนายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงว่า ปัจจุบันเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีปริมาณน้ำ 773 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 109% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 1.37 ม.ลดลงจากเมื่อวาน 7 ซม. คิดเป็นปริมาณน้ำไหลเข้า 19.41 ล้าน ลบ.ม. ลดจากเมื่อวาน 6.2 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณการระบายน้ำยังคงสูงแต่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ 22.75 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับสภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี เมื่อเวลา 05.00 น. บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สูงกว่าระดับตลิ่งที่สถานีวัดกรมชลประทาน 3 ซม.แนวโน้มลดลง
ส่วนที่ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี สูงกว่าระดับตลิ่งที่สถานีวัดกรมชลประทาน 39 ซม. แต่ยังไม่ล้นคันกั้นน้ำชั่วคราว และถาวรของเทศบาลที่ได้เสริมจากระดับตลิ่งเดิมซึ่งมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 40-60 ซม. เพื่อป้องกันน้ำทะลักเข้าพื้นที่ชุมชนเมือง และเขตเศรษฐกิจ
เนื่องจากระดับน้ำยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทุกหน่วยงานได้เร่งให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำเอ่อล้นในชุมชนหรือพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งเครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำท่วมขัง รถสูบส่งน้ำระยะไกล เรือยนต์ผลักดันน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถบรรทุกขนย้ายผู้ประสบภัย รวมถึงเรือพาย เรือท้องแบน เพื่อการสัญจรทางน้ำสนับสนุนในพื้นที่อย่างเต็มที่ด้วย
ชี้แม่น้ำปราณบุรีเพิ่มสูงไม่เกิน 20 ซม.
นอกจากนี้ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังนอกจากเขื่อนแก่งกระจาน ที่ต้องเร่งพร่องน้ำให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ รองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อนโดยประสานจังหวัด และพื้นที่เตรียมการป้องกันและช่วยเหลือพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำให้มากที่สุด ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 534 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103% เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำ 8,025 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 91% เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 194 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87% เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณน้ำ 335 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันมีแผนระบายน้ำลงแม่น้ำปราณบุรีเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 10.40 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรีวันนี้ จะสูงขึ้นอีกไม่เกิน 20 ซม.