วันนี้ (24 ส.ค.2561) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร นักวิชาการด้านความปลอดภัยบนท้องถนน นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ร่วมแถลงข่าวกรณีการเพิ่มโทษใบขับขี่
รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เปิดเผยสถิติการเกิดอุบัติเหตุโดยพบว่ากลุ่มผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ มีโอกาสการเสียชีวิตร้อยละ 34 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ถึง 2 เท่า
ตำรวจไร้สิทธิ์โกงค่าปรับ-ส่งศาลตัดสินคดี
พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานจราจร โดยยืนยันว่า หากพบตำรวจฉวยโอกาสนี้เรียกรับผลประโยชน์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จะถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและวินัย ยืนยันไม่มีการช่วยเหลือกันอย่างแน่นอน
เดิม พ.ร.บ.จราจร โทษสุงสุดไม่เกิน 1,000 บาท แต่ปรับจริงแค่ 500 บาท และในกฎหมายใหม่ ตำรวจไม่มีสิทธิ์ปรับ การพิจารณาอัตราโทษตามเพดาน 10,000-50,000 บาท ขึ้นกับดุลยพินิจของศาล ใบขับขี่ใหม่จะลงโทษเหมือนกับกรณีเมาแล้วขับถูกปรับ
นอกจากนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังได้สั่งการให้สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนระหว่างการปรับปรุงกฎหมายใหม่ และยืนยันการเพิ่มโทษค่าปรับใหม่ จะพิจารณาตามความเหมาะสมและไม่ให้เป็นช่องทางในการทุจริต และไม่เป็นภาระกับประชาชน
ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุด้วยว่า ในข้อหาความผิดในชั้นพนักงานไม่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ แต่พนักงานจะส่งพนักงานอัยการ และเข้าสู่กระบวนการพิจารณคดีไม่ได้จบที่ชั้นพนักงาน จึงไม่สามารถเปิดช่องทางการทุจริตจากเงินค่าปรับ กรณีหากมีการทุจริตจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
กรมการขนส่ง คาดอีก 1 ปีมีผลบังคับใช้
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า หลังจากมีการประกาศกฎหมายฉบับนี้ทางราชกิจจานุเบกษา จะใช้ระยะเวลา 1 ปี จะต้องอบรมประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้กับประชาชน ก่อนจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะเป็นการรวม พ.ร.บ.รถยนต์ กับ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก เข้าด้วยกัน เพื่อให้กฎหมายมีความทันสมัยเหมาะสมกับสถานการณ์เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน
ยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ได้มีการหารือกับหน่วยงานต่างๆ และทางศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้มีการเสนอให้เพิ่มโทษกับผู้ที่ขับรถโดย ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ให้ปรับไม่เกิน 50,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี ส่วนกรณีที่มีข้อคิดเห็นคัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน จะมีการรวบรวมข้อมูลและส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป
นายกมล กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าของร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบขั้นตอนต่อไปจะส่งต่อให้ สนช.พิจารณา ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้รวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็นต่างๆ จากสื่อสังคมออนไลน์ด้วย
ส่วนกรณีที่มีข้อสังเกตการเพิ่มโทษผู้ไม่มีขับขี่ โดยการจำคุกเป็นการเพิ่มภาระเรือนจำ เพราะขณะนี้เกิดปัญหาคนล้นคุกจริงๆ แล้วประเทศไทยมีโทษจำคุกอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ขนส่งทางบกและพ.ร.บ.รถยนต์ แต่กฎหมายใหม่จะต้องมีการทำสำนวนคดีส่งให้ศาลพิจารณาตามความเหมาะสม
รถจักรยานยนต์ 20 ล้านคันที่จดทะเบียน มีใบอนุญาตขับขี่แค่ 12 ล้านฉบับ และมีช่องว่างที่ไม่มีใบขับขี่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชนที่นำรถของพ่อแม่มาขับขี่ ดังนั้นจะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการพิ่มการอบรมให้กับเด็กกลุ่มนี้
ชี้อุดช่องว่างเยาวชนต่ำกว่า 15 ปี ขับรถ
ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ถ้ามีการบังคับใช้จริงจะตัดวงจรกลุ่มเด็กต่ำกว่าอายุ 15 ปีที่เสียชีวิต เพราะเดิมบทลงโทษแทบจะไม่มีผลทั้งต่อครอบครัวและการบังคับใช้จริง แต่ถ้าเพิ่มโทษจริง และเข้าสู่ชั้นศาล อย่างน้อยผู้ปกครองที่เป็นเจ้าของรถก็ต้องรับผิดชอบ
จากสถิติพบว่ามีเยาวชนอายุ 15-19 ปี เสียชีวิตตัวเลข 1,688 คน แต่ถ้าขยับช่วงอายุ 15-25 ปี จะพบว่าส่วนหนี่งไม่มีใบขับขี่ ถ้ามีกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นเราสามารถลดการเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 คน
สำหรับการแก้กฎหมายและเพิ่มโทษใบขับขี่ใหม่ เนื่องจากกฎหมายด้านการขนส่งทางบกฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้บังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 ซึ่งการขอแก้ไขพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการขนส่ง ทางบก พ.ศ.2522 ดังกล่าวจำเป็นต้องมีการปรับเนื้อหาให้มีความทันสมัย และให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน