เมื่อวานนี้ (29 ส.ค.2561) นายวีร์รวุทธ์ ปุตระเศรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.อ่างทอง หลังเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เพิ่มการระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือน้ำเหนือ พร้อมกำชับให้แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนนักท่องเที่ยวและประชาชนที่สัญจรทางน้ำ ให้เตรียมการป้องกันและเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำใน ต.โผงเผง อ.ป่าโมก และ ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ
เช่นเดียวกับ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชน หลังพบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สูงเกินควบคุมกว่า 29 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น เพื่อให้การควบคุมปริมาณน้ำเป็นไปตามเกณฑ์ ประกอบกับมีฝนตกหนักในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และปทุมธานี จึงจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งจะทำให้แม่น้ำป่าสัก บริเวณ อ.เมือง อ.เสาไห้ และ อ.ท่าเรือ สูงขึ้น 0.80-1.20 เมตร พร้อมกำชับให้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา และเทศบาลเมืองอโยธยา เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำที่อาจเกิดขึ้น
ด้านนายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2561 ปริมาณน้ำในอ่างฯ 302.54 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 650 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือรับน้ำได้อีกร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ประมาณ 50.09 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และมีการระบายน้ำ 23.40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ทั้งนี้ การระบายน้ำลงสู่พื้นที่ด้านท้าย ยังไม่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งแต่อย่างใด แต่เป็นการระบายน้ำเพื่อเตรียมรับน้ำที่เกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่เหนือเขื่อนป่าสักฯ บริเวณ จ.เพชรบูรณ์ และเป็นการควบคุมปริมาณน้ำในอ่างฯ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ส่วนที่เขื่อนพระราม 6 กรมชลประทาน จะควบคุมน้ำผ่านท้ายเขื่อนในเกณฑ์ประมาณ 400-450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เท่านั้น ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลฯ เร่งผันน้ำเข้ากักเก็บไว้ในทุ่งบางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และลุ่มแม่น้ำยม อ.สามง่าม จ.พิจิตร เพื่อรับมวลน้ำภาคเหนือที่ยังคงไหลหลากสมทบอย่าง ต่อเนื่อง เหลืออีก 2 เมตรถึงจุดวิกฤตน้ำล้น ซึ่งการเร่งผันน้ำลง 2 ทุ่งดังกล่าว จะช่วยป้องกันน้ำเหนือไหลบ่าท่วมภาคกลาง และ กทม.
อย่างไรก็ตาม การผันน้ำเข้ากักเก็บไว้ในทุ่งทั้ง 2 จังหวัดดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลทำให้น้ำท่วมยาวนานไปถึงต้นปีหน้า ส่วนเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ไม่ส่งผลกระทบต่อ จ.พระนครศรีอยุธยา และลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่อย่างใด ดังนั้น ประชาชนอย่าตระหนกว่าจะประสบปัญหาน้ำท่วมเหมือนทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการระบายน้ำตามแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ