วันนี้ (30 ส.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท้ายเขื่อนพระราม 6 อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ขึ้นธงเหลืองแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำป่าสัก โดยเฉพาะอำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอเสาไห้ และอำเภอท่าเรือ เพื่อเตรียมรับมือกับมวลน้ำที่จะระบายมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในอัตรา 400 - 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าในเขื่อนมีน้ำใช้การเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น แต่ทำไมกรมชลประทานจึงต้องเร่งพร่องน้ำออกจากเขื่อน และหากระบายออกมามากจะส่งผลกระทบกับน้ำใช้การในฤดูแล้งหรือไม่
นายไพศาล ใจซื่อตรง หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ อธิบายว่า เหตุผลที่ต้องระบายน้ำเพื่อเตรียมรับมือกับปริมาณฝนที่จะตกหนักพื้นที่เหนือเขื่อนคือ จังหวัดเพชรบูรณ์ ตามสถิติย้อนหลังจะตกหนักจนน้ำเต็มเขื่อนในเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี เพราะเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นเขื่อนขนาดกลาง มีศักยภาพรับน้ำได้เพียง 960 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น กรมชลประทานจึงใช้โอกาสและจังหวะนี้ หวังระบายน้ำออกมาก่อน เพราะแม่น้ำเจ้าพระยายังรับน้ำได้อีกมาก
แต่น้ำที่ระบายจะทำให้พื้นที่ริมตลิ่งท้ายวัดสะตือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถูกน้ำท่วมบ้าน 7 หลังคาเรือน แต่ก็ยังอยู่ในภาวะปกติ และย้ำว่าน้ำที่ระบายมาจะไม่ทำให้ท่วมเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา หรือจังหวัดปทุมธานี ตามกระแสข่าวลือเพราะน้ำยังน้อย
ไม่เป็นความจริง สถานการณ์ปัจจุบันยังปกติ ท้ายเขื่อนพระราม 6 จะระบายน้ำวันละประมาณ400-450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เท่านั้น ตรวจสอบแล้วพื้นที่ท้ายเขื่อนไม่ได้รับผลกระทบ
นายยงยุทธ แก่นสากล ชาวตำบลท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา แม้จะอยู่เหนือเขื่อนพระราม 6 แต่ก็ต้องเดินทางมาดูระดับน้ำด้วยตัวเองให้เห็นกับตา เพื่อที่จะได้นำข้อมูลข่าวสารแจ้งเตือนประชาชนต่อไป เนื่องจากหลายคนกังวลใจที่ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอีก 5 เซนติเมตร รวมถึงกระแสข่าวลือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อตรวจสอบเทียบเวลาในช่วงปีเดียวกัน พบว่าปีที่ผ่านมาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำใช้การมากกว่าปีนี้ มีการระบายน้ำมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ระดับสูงสุดที่ 529 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปีนี้คาดการณ์ว่าการระบายน้ำออกจากเขื่อนจะไม่ถึงระดับวิกฤตที่ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
อย่างไรก็ตาม วันนี้การระบายน้ำอยู่ที่ 439 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อยู่ต่ำกว่าระดับวิกฤต และย้ำว่าจะควบคุมไม่ให้เกินที่ 450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่น้ำจำนวนนี้จะหลากไปท่วมเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดปทุมธานี