ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"พล.อ.ฉัตรชัย" ปัด พ.ร.บ.ยา เอื้อประโยชน์ให้นายทุน

สังคม
31 ส.ค. 61
10:31
921
Logo Thai PBS
"พล.อ.ฉัตรชัย" ปัด พ.ร.บ.ยา เอื้อประโยชน์ให้นายทุน
รองนายกรัฐมนตรียืนยันร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนและได้ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก หลังจากองค์กรเครือข่ายเภสัชกร ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาได้

เมื่อวานนี้ (30 ส.ค.2561) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ มุ่งสู่ประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหลัก ขณะที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเสมอว่าการดำเนินการงานด้านสาธารณสุขมุ่งสู่ประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งแนวคิดและวิธีการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข และ อย.เดินหน้าตามนโยบายรัฐบาลอย่างชัดเจน แต่การสร้างการรับรู้ในบางประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นและการทำความเข้าใจอาจจะยังไม่ครอบคลุม จึงอยากให้เอาประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ

ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ระบบสุขภาพต้องทำงานร่วมกัน โดยมีความหลากหลายแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน เพื่อประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ซึ่งในส่วนของ พ.ร.บ.ยาฉบับล่าสุดใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2510 เป็นเวลา 51 ปีแล้วและแก้ไขไม่ได้ เพราะมีบางประเด็นที่ขัดข้องในเรื่องวิชาชีพ แต่ประเด็นอื่นที่เป็นประโยชน์กับประชาชนชัดเจนก็ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย พอจะแก้ก็ต้องถูกตีกลับที่เดิมในเรื่องเดิมๆ ดังนั้น หากมองข้ามประโยชน์ในบางส่วน ก็จะเห็นประโยชน์ส่วนรวม ส่วนในเรื่องที่ยังเห็นไม่ตรงกันและเป็นปัญหา สามารถคุยกันได้และบางเรื่องยังไม่ได้บรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ยานี้เลย เพราะฉะนั้นต้องมาคุยหารือกัน อย่าสร้างความขัดแย้งกันเลย เพราะทุกวิชาชีพต้องทำงานร่วมกันอยู่แล้ว

ขณะที่ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า พ.ร.บ.ยาฉบับเดิมและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าร้านขายยาต้องมีเภสัชกร และในร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ไม่ได้แก้ไขในส่วนนี้ยังคงกำหนดให้ร้านขายยาต้องมีเภสัชกรเหมือนเดิม ขอยืนยันว่าไม่ได้มีการแก้ไข หรือเอื้อประโยชน์ให้ใครในการเปิดร้านขายยาใหม่โดยไม่มีเภสัชกรทั้งสิ้น

ส่วนร้านขายยาเดิมในประเภทที่เคยเปิดโดยไม่มีเภสัชกรได้ตามกฎหมายเดิม ตามร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่ หากร้านมีการเปลี่ยนเจ้าของเมื่อไหร่ ก็ต้องมีเภสัชกร หากหาไม่ได้ก็ต้องปิดร้าน ในอนาคตหมายความว่าร้านขายยาเดิมที่ยังคงเปิดโดยไม่มีเภสัชกร ซึ่งอาจเปิดตั้งแต่ พ.ศ.2510 ร้านพวกนี้จะค่อยๆ หมดไป

เลขาธิการ อย.กล่าวว่า ประเด็นที่มีการระบุว่าร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่ จะเปิดช่องให้วิชาชีพอื่น เช่น พยาบาลสามารถจ่ายยาได้นั้น เนื่องจากในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลไม่มีเภสัชกร โดยให้พยาบาลทำหน้าที่ในการจ่ายยา ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายรองรับในเรื่องนี้ พยาบาลจึงต้องการให้มีการออกเป็นกฎหมายรองรับให้พยาบาลจ่ายยาได้ที่โรงพยาบาลประจำตำบล ทั้งนี้ ในเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ยา ที่ยังเห็นต่าง เชื่อว่าจะค่อยๆ เข้าใจและหาข้อสรุปร่วมกันได้ เพราะการทำงานด้านสาธารณสุขต้องทำงานร่วมกันเป็นสหวิชาชีพ

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

อดีตนายกสภาเภสัชฯ หวั่น พ.ร.บ.ยาใหม่ ซ้ำรอยเดิม

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง