วันนี้(31 ส.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้โอนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จ.เชียงใหม่ ไปควบรวมกับองค์สวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตอาหารสัตว์ ที่มีสมาชิก 8 จังหวัดภาคเหนือ กังวลผลกระทบที่พวกเขาอาจจะได้รับเนื่องจากรูปแบบการบริหารที่เปลี่ยนไปเป็นระบบราชการ ขณะที่กลุ่มพนักงาน ก็ไม่มั่นใจในอนาคตของตัวเอง
นายพิน ไชยกันทา เกษตรกรผู้ปลูกหญ้าแพงโกล่า อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน บอกว่า เคยปลูกพืชชนิดอื่นแต่ประสบปัญหาขาดทุน ต่อเมื่อหันมาปลูกหญ้าแพงโกล่าเดือนละหลายสิบตันทำให้มีรายได้ดีมา 12 ปี
กระทั่งเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2560 คณะรัฐมนตรี มีมติควบรวมเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี กับองค์การสวนสัตว์ทำให้พวกเขาตกใจ เพราะเมื่อต้องเข้าสู่ระบบราชการ และ มีการแข่งขันยื่นประมูล ซึ่งกลุ่มเกษตร กร 8 จังหวัดภาคเหนือ เกรงว่าจะไม่มีเงินทุนพอที่จะไปต่อสู้กับนายทุน
ตามที่เคยไปประชุมถ้าย้ายไนท์ซาฟารี ไปอยู่กับสวนสัตว์ เมื่อมีการจัดซื้อและต้องประมูลแข่งกับเอกชน เกษตรกรจะสู้ไม่ไหว และถ้าไม่ไหวสินค้า และผลิตที่เราผลิตขึ้นจะเอาขายใคร
ส่วนนายดี จันทคลักษณ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตอาหารสัตว์ กล่าวว่า เราค่อนข้างกังวล เพราะการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีการประกันราคา รัฐไม่ต้องไปอุ้ม หรือจ่ายเงินชดเลยทั้งหญ้าและพืชผลการเกษตร ซึ่งมีความเข้มแข็งและ 10 ปีไม่เคยมีใครมาดูแล
ความเปลี่ยนแปลงนี้ยังสร้างความกังวลแก่พนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี กว่า 300 คนว่าจะไม่ได้ทำงานต่อ
นายมาโนช การพนักงาน ผู้เชี่ยวชาญสำนักงานพัฒนาพิงคนคร หน่วยงานที่ดูแลเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา บอกว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ องค์ความรู้ของพนักงานไนท์ซาฟารี ที่สะสมประสบการณ์การดูสวนสัตว์กลางคืนมาหลายปี อาจสูญหายไป หากพนักงานต้องตกงาน
ไม่มีอะไรมาการันตีว่าทั้ง 300 คนที่ทำงานที่ไนท์ซาฟารีจะได้รับการว่าจ้างทั้งหมดไปอยู่ในองค์การสวนสัตว์ เชื่อว่าสวนสัตว์ ไม่รับทั้งหมด ประกอบกับเงินเดือนของพนักงานยังสูงกว่า ดังนั้นเชื่อว่าน่าจะมีปัญหาเกิดขึ้น
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตอาหารสัตว์ส่งไนท์ซาฟารี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอเพิกถอนมติ คณะรัฐมนตรี วันที่ 13 มี.ค. 2561 ในการแต่งตั้งประธานกรรมการ และ กรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาพิงคนคร เพราะเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฏหมาย และ บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งมีคุณสมบัติต้องห้าม แต่ศาลปกครองสูงสุดยกคำร้อง ทำให้กลุ่มชาวบ้านเตรียมยื่นอุทธรณ์อีกครั้ง
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ยืนยันก่อนหน้านี้ว่า คนก็ยังทำงานเหมือนเดิมไม่มีคนตกงานแม้แต่คนเดียว ส่วนผู้ขายอาหารสัตว์ จะไม่เดือดร้อนแน่นอน